ธ.ก.ส. ขยายเวลารับทำ ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564
ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาเปิดรับทำ ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 ไปสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในพื้นที่ 42 จังหวัด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย
ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาเปิดรับทำ ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564ไปสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในพื้นที่ 42 จังหวัด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดย รัฐบาลสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย และกรณีเป็นลูกค้าที่ใช้สินเชื่อกับ ธ.ก.ส. จะได้รับเงินสมทบค่าเบี้ยประกันภัยฟรีสามารถซื้อหรือตรวจสอบการทำประกันภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “BAAC INSURE” และที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าตามที่ธ.ก.ส. ได้เปิดโครงการประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 2564 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตโดยใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนั้น เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ ซึ่งกระจายตัวอย่างรวดเร็ว
ธ.ก.ส. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้หารือร่วมกัน และเห็นชอบในการขยายระยะเวลาในการขายกรมธรรม์โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564
จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ในกลุ่มที่ 1 พื้นที่ 42 จังหวัดได้แก่
- กําแพงเพชร, นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, อุทัยธานี, นครพนม, มหาสารคาม
- ร้อยเอ็ด, สกลนคร, หนองคาย, อุดรธานี, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, อุบลราชธานี
- อํานาจเจริญ, ชัยนาท, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ชลบุรี
- ฉะเชิงเทรา, ระยอง, สระแก้ว, จันทบุรี, ปราจีนบุรี, ตราด, นครนายก, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร
สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ยังคงสิ้นสุดตามระยะเวลาเดิม ได้แก่ กลุ่มที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แพร่, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, ลําปาง, ลําพูน, อุตรดิตถ์, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, บึงกาฬ, มุกดาหาร, เลย, หนองบัวลําภู และชัยภูมิ
กลุ่มที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ได้แก่ จังหวัดตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มที่ 4 พื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ได้แก่ กระบี่, ชุมพร,พังงา, ภูเก็ตระนอง สุราษฎร์ธานี, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, พัทลุง, ยะลา, สงขลา และสตูล
กรมธรรม์การประกันภัยข้าวนาปีในส่วนของการประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) อัตราค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 55 บาทถึง 230 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ความเสี่ยงโดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 58 บาทต่อไร่ และกรณีเป็นเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อ ธ.ก.ส.ธนาคารจะจ่ายสมทบส่วนที่เหลือให้เต็มจำนวน
ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับประกันภัยฟรี โดยให้ความคุ้มครองในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า วงเงินคุ้มครองจำนวน 1,260 บาทต่อไร่
และในกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด วงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ เป้าหมายการทำประกันภัยบนพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 46 ล้านไร่
กรณีทำประกันภัยส่วนเพิ่ม(Tier 2) ค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ 24 บาทถึง 101 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติจะได้รับวงเงินเพิ่มอีก 240 บาทต่อไร่
รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 1,500 บาทต่อไร่ และกรณีเกิดภัยศัตรูพืช โรคระบาด ได้รับวงเงินคุ้มครองเพิ่ม 120 บาทต่อไร่ รวมเงินประกันภัยที่ได้รับ 750 บาทต่อไร่
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงต่ำจะได้รับสิทธิ์ประกันภัยฟรี ไม่ต้องมาติดต่อธนาคารโดย ธ.ก.ส. จะดำเนินการให้ทั้งหมด
ส่วนเกษตรกรทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงปานกลางและสูง สามารถซื้อประกันภัยผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน “BAAC INSURE” โดยเป็นการซื้อประกันภัยด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน ได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติ IOS และ Android
หรือขอทำประกันภัยได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงนำบัตรประชาชนไปติดต่อก็สามารถทำประกันภัยได้ทันทีทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.baac.or.th
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ
- กษ. เผย ยอดส่งออก ทุเรียน จำนวน 25 ตัน จากการขายเพียงแค่ 45 นาที
- ครม. อนุมัติ คนละครึ่ง เฟส 3 : 3,000 บาท ได้ใช้ภายในสิ้นปี