นายกฯ ย้ำ จัดซื้อเรือดำน้ำ เพื่อความสงบของประเทศ คุ้มทั้งเศรษฐกิจ-ความมั่นคง
นายกฯ ย้ำการ จัดซื้อเรือดำน้ำ ดำเนินการอย่างคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสร้างความมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศ
วันนี้ (17 ก.พ. 64) เวลา 10.25 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กรณีการ จัดซื้อเรือดำน้ำ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำว่า การขับเคลื่อนประเทศต้องมีการกำหนดทิศทางในหลายด้าน การมีเรือดำน้ำเป็นการสร้างความมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ติดทะเลกว่า 3,000 กิโลเมตร ในสถานการณ์ปกติ เรือดำน้ำจะทำหน้าที่ป้องกันและรักษาทรัพยากรทางทะเล ซึ่งไทยไม่เคยมีอุปกรณ์สำรวจท้องทะเลในระดับลึก โดยเฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน
นอกจากนี้ เรือดำน้ำยังทำหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่ทะเลทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล การประมงนอกน่านน้ำ ตรวจตราด้านความมั่นคงทางทะเล กระบวนการค้ามนุษย์ และผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 มีเรือรบจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสันนิษฐานว่าเข้ามาค้นหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาในฝั่งทะเลอันดามันของไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดี การมีเรือดำน้ำยังเป็นการสะท้อนอำนาจทางทะเลของกองทัพเรือไทย ซึ่งแม้ว่าประเทศจะสงบแต่การกระทบกันก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีชี้แจงอีกว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นการจัดซื้อแบบผ่อนชำระ และเป็นรายการผูกพันงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว โดยเป็นรายจ่ายในปี 2560 จำนวน 1 ลำ ผูกพันงบประมาณผ่อนชำระจำนวน 7 ปี และรายจ่ายในปี 2563 จำนวน 2 ลำ ผูกพันงบประมาณผ่อนชำระจำนวน 8 ปี กรณีไม่ซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าปรับให้ทางจีน แต่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของไทย เพราะรัฐบาลได้มีการเจรจาด้วยวิธีรัฐบาล G to G เรียกข้อเอกสารผูกพันระหว่างรัฐบาลว่าข้อตกลงไม่ใช่สัญญา ซึ่งเจรจาในหลักการ 3 ลำมาโดยตลอด ทำให้ได้ราคาลดลง มีการให้อาวุธยุทโธปกรครบถ้วน ไม่เช่นนั้นราคาก็จะสูงขึ้น
โดยการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 กองทัพเรือได้มีการเจรจาต่อรองในงบประมาณที่คุ้มค่าที่สุด มีการขอให้การรับประกันถึง 2 ปี ซึ่งปกติจะให้แค่เพียง 1 ปีเท่านั้น การฝึกอบรมให้สามารถทำการรบได้จริง และการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมต่าง ๆ มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยไม่มีการเพิ่มวงเงิน
ทั้งนี้ เมื่อเทียบผลประโยชน์ทางทะเลกับราคาที่ซื้อมา พบว่าผลประโยชน์ทางทะเล 24 ล้านล้านบาท ในขณะที่ราคาลงทุนเรือดำน้ำคิดเป็นร้อยละ 0.093 เท่านั้น ซึ่งมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและตอบสนองยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ยามศึกเรารบ ยามสงบเราต้องเตรียมพร้อม ทั้งขวัญกำลังใจ คน และเครื่องมือ ปัจจุบันความรุนแรงของอาวุธมีมากขึ้น เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนามากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับเรือดำน้ำในทันที แต่ต้องรอการก่อสร้างถึง 6 ปี และต้องส่งคนไปเรียนรู้การก่อสร้าง การใช้งานต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำนี้เพื่อความสงบสุขของประเทศ ทุกคนต้องเสียสละทั้งคนที่ต้องไปเรียนรู้และคนที่ต้องลงไปอยู่ในเรือดำน้ำ พร้อมขอให้ทุกคนภูมิใจในความเป็นชาติของเรา ความเข้มแข็งของเรา อธิปไตยของเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครอยากทำลาย
ปัจจุบัน ในอาเซียนมีเรือดำน้ำทั้งหมด 18 ลำ ประกอบด้วย เวียดนาม 6 ลำ, อินโดนีเซีย 5 ลำ (กำลังซื้อเพิ่มเติม 4 ลำ), สิงคโปร์ 4 ลำ (กำลังซื้อเพิ่มเติม 4 ลำ), มาเลเซีย 2 ลำ และเมียนมา 1 ลำ (กำลังซื้อเพิ่มเติม 4 ลำ) ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ของไทยช่วง 2481-2484 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีเรือดำน้ำ 4 ลำ โดยปัจจุบันเรือดำน้ำเหล่านั้นปลดประจำการไปตั้งแต่ปี 2494 นับเป็นเวลากว่า 69 ปีแล้วที่กองทัพเรือไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการ
ที่มา: Thaigov
- เพื่อไทย เสนอลดงบซื้ออาวุธ-เรือดำน้ำ เอามาใช้กู้วิกฤติโควิด-19
- นายกฯ เผย กองทัพจัดซื้ออาวุธตามงบ ย้ำดูแลสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย
- นายกฯ ย้ำชัด วัคซีนโควิด-19 2 แสนโดส ถึงไทยปลายเดือน ก.พ. นี้
- สาธารณสุขซ้อมให้บริการฉีด วัคซีนโควิด-19 ที่รพ.ราชวิถี