สุขภาพและการแพทย์

พอกหน้าด้วย ยาแอสไพริน ทำให้ หน้าขาวใส เป็นข่าวปลอม

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยืนยันว่าเป็น ข่าวปลอม กรณีที่มีบทความแนะนำสูตร พอกหน้าด้วย ยาแอสไพริน แล้วจะทำให้ หน้าขาวใส

ตามที่มีบทความแนะนำสูตร พอกหน้าด้วย ยาแอสไพริน ทำให้ หน้าขาวใส ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการแชร์เคล็ดลับสูตรพอกหน้าใสด้วยยาแอสไพริน ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่าการนำยาแอสไพรินชนิดเม็ดมาบดผสมกับสารประกอบหรือสารละลายอื่นๆ เพื่อใช้ในการรักษาสิว รอยที่เกิดจากสิว หรือนำมาใช้ในการพอกหน้าให้ขาวนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่สนับสนุนว่าใช้ได้ผลในการรักษาจริง

นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณที่ทา มีอาการผิวแห้งแสบแดงลอก หรือมีผื่นได้ และในคนที่มีอาการแพ้ที่รุนแรงจากการใช้ยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อื่นๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

ซึ่งแอสไพรินเป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่าอะซีติลซาลิไซลิค (Acetylsalicylic acid) ซึ่งถือเป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drug) ชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปยาถูกผลิตมาในรูปแบบยาเม็ดเพื่อใช้ในการรับประทาน มักใช้ยาแอสไพรินเป็นยาแก้อักเสบ ลดปวด บวม หรือลดไข้

นอกจากนี้ ยายังมีฤทธิ์ในการต้านเกล็ดเลือดโดยยับยั้งการผลิตสารทรอมบ๊อกเซน ส่วนมากในทางการแพทย์โรคที่มีการใช้แอสไพริน ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ใช้ในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาเรื่องการใช้ยาควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร. 02-590-6000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่สนับสนุนว่าใช้ยาแอสไพรินพอกหน้าได้ผลในการรักษาจริง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณที่ทา และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ที่มา: ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย

ไทยเกอร์นิวส์

นำเสนออัปเดตข่าวสารบ้านเมือง ข่าวล่าสุด มั่นใจว่าคุณจะทันทุกสถานการณ์ ไม่ว่า สังคมเศรษฐกิจ การเงิน การเมือง เรื่องร้อนออนไลน์ ดราม่าดารา อัปเดตบันเทิง ซีรีส์ หนัง เพลง ท่องเที่ยว กีฬา ตรวจหวย เลขเด็ด พร้อมเสิรฟ์ทุกเรื่องยาก ๆ ย่อยให้คุณเข้าใจง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button