‘ตติยา อุตรธิยางค์’ ผู้จัดคอร์ส Online Experience ยอดฮิตของไทย คว้าโอกาส ปรับตัวท่ามกลางภาวะโควิด-19
‘ตติยา อุตรธิยางค์’ ผู้จัดคอร์ส Airbnb Online Experience ยอดฮิตของไทย ผู้คว้าโอกาส ปรับตัวท่ามกลางภาวะโควิด-19
วันนี้ The Thaiger ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ดี ๆ จากบุคคลแวดวงท่องเที่ยว ผู้ให้บริการที่พักในฐานะ Superhost ของ Airbnb คุณ ‘เบียร์ ตติยา อุตรธิยางค์’ ผู้มีชื่อโดดเด่นสะดุดตาทีมงาน หลังจากได้อ่านบทความของ Airbnb ที่ยกให้คอร์ส Online Experience ผู้หญิงเก่งคนนี้ “จากบ้านฉันสู่บ้านคุณ ทำอาหารไทยไปด้วยกัน ” เป็นคอร์สที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการ มีคนจองมากที่สุดในประเทศไทยในปี 2563
เราจะพาไปสำรวจประวัติความเป็นมา เส้นทางการเป็น Host มุมมองการปรับตัวที่น่าสนใจในช่วงโควิด-19 ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของคุณตติยากัน
ทราบมาว่าคุณตติยาเคยเป็นนักธรณีฟิสิกส์มา 15 ปี อะไรคือจุดเริ่มต้นหันมาทำธุรกิจด้านที่พัก?
“เบียร์เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2013 ตอนนั้นมีคอนโด 2 ห้องนอน พอดีมีห้องนอนแขกว่าง ก็เลยหาอะไรทำเล่น สนุกๆ ก็เลยห้องนอนที่ 2 มาลงใน Airbnb ทำเป็นงานอดิเรก พอทำไปสักพักก็เริ่มมีเพื่อนที่ซื้อบ้านกับคอนโดมาไม่ได้ใช้ เขาก็เอามาให้เราช่วยลองเอาไปทำ
Airbnb ก็เริ่มมี Co-host Option ออกมา ก็ได้คัดเลือกจาก Super host ส่งเมลถามว่าเราสนใจที่ host ให้คนอื่นไหม หลักการเป็นเหมือน มาร์เกตเพลสที่เอาชื่อเราเข้าไปใส่เพื่อให้คนที่สนใจมาช่วยจัดการบริหารที่พักให้ พอเราตอบตกลง ก็มีคนซึ่งไม่ได้รู้จักกันก่อนหน้า ติดต่อมาในกรุงเทพ ให้มาช่วยเป็น Co-host ได้ไหม”
จากจุดเริ่มต้นแค่คอนโดสองห้องนอนของตัวเอง ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 30 ลิสต์ติ้ง ทั้งของตนเองรวมกับของเพื่อนโฮสต์ ความสำเร็จที่สานต่อมาจนถึงปัจจุบัน
อะไรคือจุดเปลี่ยนทำเป็นงานอดิเรก สู่การลงสนาม Host เต็มตัว ?
“พอเริ่มทำ Host มาตั้งแต่ปี 2013 ควบคู่ไปกับงานประจำ 4 ปีที่แล้วก็ได้ซื้อบ้าน ตอนแรกคิดว่าค่าเช่าห้องในบ้านเอามาช่วยค่าผ่อนบ้านได้บ้างก็ยังโอเค แต่กลายเป็นว่าเราผ่อนบ้านได้ และยังมีเงินเหลือ บวกกับได้รายได้จากส่วนช่วยบริหารจัดการบ้านให้คนอื่นด้วย พอมาทำเอ็กซ์พีเรียน ก็เริ่มยุ่ง
พอครบ 15 ปีในฐานะนักธรณีฟิสิกส์ ก็ออกมาทำตรงนี้เต็มตัว เริ่มทำได้เยอะขึ้น มีเวลาส่วนตัว สามารถบริหารจัดการได้มากขึ้น ข้อดีของ Airbnb คือเราไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศ แค่มีคอมแล้วมีโทรศัพท์แล้วทำที่ไหนก็ได้ เราเป็นคนชอบท่องเที่ยว ก็จะมีบางครั้งที่เดินทางไปด้วยอะไร บริหารไปด้วย มันมีอิสรภาพตรงนั้นมากกว่า ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจออกมา”
โฮสต์ Airbnb experience กลุ่มบุกเบิกกับการเลือกชูความยูนีคด้านอาหาร
รู้หรือไม่ ปัจจุบันมีเกือบ 300 Airbnb experience ในกรุงเทพ คุณตติยาเป็นหนึ่งในโฮสต์สิบคนแรก ที่ร่วมทำ Airbnb experience ซึ่งเริ่มขึ้นประมาณกลางกุมภาพันธ์ปี 2017 ความพิเศษคือเป็นคนเดียวที่จัดเกี่ยวกับอาหาร ซ้ำยังเป็นอาหารไทย ทำให้ได้รับความนิยมมาก มียอดจอง 3-4 ดินเนอร์ต่ออาทิตย์
แลกเปลี่ยนความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างการจัด experience ดินเนอร์ที่บ้าน สานต่อเป็นมิตรภาพข้ามโลก
“เบียร์จัด experience เป็นดินเนอร์ปาร์ตี้ที่บ้าน เราไปรับแขกที่ MRT พามาที่บ้าน แล้วก็พาเดินชมสวน เบียร์เตรียมอาหารไว้ จัดกิจกรรมแนว Cooking Demo ทำอาหารให้เขาดู แล้วก็ให้เขาช่วยทำนิดหน่อย เสร็จก็มานั่งกินข้าวด้วยกัน มาดั่งดื่มด้วยกัน บางทีแขกก็หิ้วเหล้า หิ้วไวน์มา
พอมันทำเป็น experience อยู่กับแขกตลอด 3-4 ชั่วโมง มีการกินดื่ม มิตรภาพก็เกิดขึ้นเร็ว ก็เกิดคอนเนคชั่นดี ๆ เวลาเบียร์เดินทางไปประทศไหน เฮ้ย ฉันจะไปประเทศยู ยูว่างรึเปล่า เราก็ไปเจอแขกที่ประเทศเขา มีอะไรประทับใจหลายอย่าง กลายเป็นว่าเราได้เพื่อจากทั่วโลกโดยที่เราไม่ต้องไปไหน”
“เช่น experience วันนั้นมีแขกมาประมาณ 3 กลุ่ม เบลเยี่ยม ฟินแลนด์กับออสเตรเลียมาเจอกัน ดินเนอร์กินดื่ม แล้วแถวบ้านมีคราฟเบียร์ เลิกดินเนอร์ ก็ไปนั่งกินกันต่อจนไม่รู้จะเก็บตังค์กันยังไง เหมือนกับความรู้สึก ทั้งกรุ๊ปนี้กลายเป็นเพื่อนใหม่ พอครั้งหนึ่งเราไปสเปน และมี layover ที่เบลเยี่ยมประมาณ 3-4 ชั่วโมง เราส่ง Message ไปหาแขก ว่าฉันมีเวลา 3-4 ชั่วโมง ออกมาเที่ยวทันไหม แขกบอกว่าเดี๋ยวฉันจะไปรับ แขกก็พาเราไปเดินเที่ยวในเมืองประมาณ 2-3 ชั่วโมง กินเบียร์เบลเยี่ยม กินวาฟเฟิล เสร็จแล้วเขาก็มาส่งเราที่สนามบิน เราก็เดินทางไปต่อ”
ที่ประทับใจอีกเคสหนึ่ง คือ มีแขกฮังการี่ ตอนมาเที่ยวไทยเขาก็ยังไม่แต่งงานกัน หลังจากนั้นปี 2 ปีให้หลัง เบียร์ไปฮังการี่ ก็ไปเยี่ยมเขา กินข้าวกันที่บ้านเขา เขาแต่งงานกันแล้ว มีลูกสาว 6 เดือน ยังไม่พลิกเลย ช่วงที่นั่งกินข้าวกันลูกสาวเขาพลิกตัวได้ครั้งแรก เราได้อยู่ตรงนั้น ในช่วง moment ประทับใจของเขา”
โควิด-19 อุปสรรคใหญ่ให้ต้องปรับตัว
ในสถานการณ์โลกที่สังคมมนุษย์กำลังเผชิญบททดสอบครั้งสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักหน่วงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้คนงดการเดินทาง เว้นระยะห่างทางสังคม
Airbnb ก็ได้ปรับตัวท่ามกลางสภาวะอันท้าทายนี้ ด้วยการต่อยอด เปิดแพลตฟอร์ม Aibnb online experience ที่จะพาผู้ใช้บริการไปเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนของโลก ก็เชื่อมเข้าถึงกันให้ง่ายขึ้นผ่านระบบออนไลน์
คุณตติยาได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างจากโควิดครั้งนี้?
“ปีที่แล้ว (2564) ยอดจองบ้านช่วงมีนายังโอเค แต่ช่วงเมษายน เริ่มมีการกักตัว ล็อกดาวน์ ยอดจองดรอปเลย หายไปเกือบ 90% โฮสต์บางคนจะเช่าคอนโดแล้วเอามาลง เพราะฉะนั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการเช่าคอนโด แต่โชคดีที่บ้านกับคอนโดของเราเป็นของที่มีอยู่แล้ว กับของที่เราจัดการให้คนอื่น เราเอาแค่ค่านายหน้า ไม่ได้มีส่วนของเงินลงทุน อาจทำให้เจ็บน้อยกว่าคนอื่นนิดหนึ่ง รายรับลดลง แต่เราไม่ได้มีส่วนของรายจ่าย
ส่วน Experience ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทาง Airbnb ก็ปิดการรับจองไปเลย ปิดไปประมาณ 3-4 เดือน แม้ว่าปัจจุบันจะ Airbnb จะกลับมาเปิด experience ไปแล้ว แต่ส่วนของเราเองอยากให้ผ่านช่วงระลอกใหม่นี้ไปก่อน
ปรับตัวอย่างไรให้ผ่านโควิดช่วงนั้นมาได้?
“เมื่อก่อนเบียร์มีแม่บ้านจ้างประจำ เขาทำความสะอาดคอนโดให้หลายที่ที่เบียร์ดูแลอยู่ แต่พอโควิดมาปุ๊บ ก็คุยกับแม่บ้านว่าไม่มีงานจริง ๆ ก็เลยต้องปล่อยแม่บ้านไป อย่างเน็ตในบางที่ที่ไม่มีคนอยู่ เราก็โทรไปหาผู้บริการอินเตอร์เน็ต ขอปรับแพคเกจปรับลดราคา เขาก็ปรับลดให้ เพราะเขาก็ไม่อยากให้เราแคลเซิล ค่าผ่อนบ้าน เมื่อต้นปี เบียร์ขอปรับลดดอกเบี้ยกับธนาคาร เพราะพ้นช่วง 3 ปีแรกที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ ธนาคารก็ยอมปรับลดให้ ปรับทันก่อนโควิดมาพอดี ลดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
ช่วงนั้น Airbnb แต่ละประเทศก็เบรนด์สตอร์มกันว่าจะช่วยเหลือ Host ยังไงได้บ้างในช่วงนี้ ก็มีการเสนอขึ้นมาว่า ออนไลน์นี้เป็นไปได้ไหม Airbnb ใช้เวลา 2 อาทิตย์สร้างออนไลน์แพลตฟอร์มขึ้นมา และเมื่อปล่อยออกมาผลตอบรับก็ดีมาก”
จาก Experience ดินเนอร์ตัวต่อตัว สู่ Online Experience สอนทำอาหารไทยผ่านหน้าจอ
ในการเปลี่ยนมาจัดแบบออนไลน์มีความยากหรือต่างอะไรไหม?
“ช่วงแรกยากมาก เพราะการเจอกันแบบตัวต่อตัวมันง่ายในการสร้างคอนเนคชั่น ทำความรู้จักแขก 3-4 ชั่วโมงเนี่ยเราไม่จำเป็นต้องพูดอยู่ตลอดเวลาก็ได้ เราสามารถนั่งเตรียมอาหารนั่ง ทำอะไรก็ได้ อย่างแขกเขามา 2-3 คนเ เขาสามารถคุยกันเอง เอนเตอร์เทนกันเองได้ หรือแขกไม่รู้จักกัน เขาก็คุยทำความรู้จักของเขาเอง เราไม่ได้ต้องเป็นคนที่จะต้องดำเนินการตลอดเวลา
พอมาเป็น Online ปุ๊บ ช่วงแรกก็จะเจอปัญหา จะเซ็ตกล้องยังไง ไม่ได้ยินเสียง คอมล่ม เน็ตล่มบ้าง และที่ยากคือที่เราจะทำยังไงไม่ให้แขกเขาเบื่อ หรือว่าให้แขกเขาแบบสามารถตามเราได้ จากที่เห็นเราทำอาหารแค่จากกล้อง เขาจะหาวัตถุดิบยังไง ทำตามเราได้ไหม อร่อยไหม มีความท้าทายหลายอย่าง”
“แต่พอทำไปได้สักพัก พบว่าการโฮสต์ง่ายกว่าแบบตัวต่อตัวอีก เราสามารถเตรียมตัวก่อนแค่ครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่ม แค่แปรงฟันล้างหน้า โฮสต์ 2 ชั่วโมงจบก็จบเลย แล้วทำอาหารแค่ 2 อย่าง ต้นทุนถูกลง แต่ถ้าเป็นแขกมากินข้าวเย็นที่บ้านเราต้องทำอาหารสำหรับ 4 คน 5 คนตามจำนวนแขกที่มา นี่ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง แต่เราสามารถได้เงินจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าด้วยแล้วใช้เวลาน้อยกว่า ก็เลยกลายเป็นออนไลน์ง่ายกว่า
อะไรทำให้ตัดสินใจลงสู่ช่องทางออนไลน์ ?
“ก่อนที่เบียร์ตัดสินใจจะลองทำออนไลน์ มีอะไรให้ลองเบียร์ก็ลองหมด ตอนนั้นรายได้หายไปเยอะ พอมีออนไลน์ มันจะได้รายได้หรือไม่ ไม่รู้ล่ะ แต่ก็ขอลองไว้ก่อน ในเมื่อไม่มีค่าใช้จ่ายไม่มีอะไรจะเสีย แต่ตอนนั้นก็สงสัยว่าจะขายได้เหรอ ในเมื่อจะทำอาหารไทย ลองเสิร์ชใน google มีสูตรเต็มไปหมด ทั้ง Youtube ก็มีคนทำคลิปสอน ทำไมคนจะต้องมาเสียเงินเรียนทำอาหาร
เมื่อทดลองเข้าคลาสทำทาร์โก้ของคนเม็กซิโก จึงรู้ว่า Online Experience จะเน้นความ Exclusive โฮสต์จะทำความรู้จักกับเรา ให้เราแนะนำตัว มีแขกจากยุโรป 3-4 คนที่จอยเข้ามาในคลาสนั้น เราก็ได้ทำความรู้จักกับคนอื่นในคลาส พอทำอาหาร ถ้าเขาบอกวัตถุดิบมาต้องใช้อะไรบ้าง แล้วถ้าเราไม่มีอันนี้ โฮสต์ก็จะสามารถช่วยแก้ให้เราได้ ต่างกับไปหาสูตรเอาเอง เรารู้สึกว่ามันก็ยังได้คอนเนคชั่นอยู่ ก็เลยตัดสินใจเปิดคลาสของตัวเอง และคิดว่าตัดสินใจถูกที่เริ่มทำตั้งแต่แรก”
ประสบการณ์การสอน online Experience เป็นยังไงบ้าง?
“คอร์สของเบียร์ ถ้าเป็นสาธารณะจะเปิดสูงสุด 10 คน ถ้าเป็น Private จะได้สูงสุด 30 คน เราเคยจัดเยอะที่สุดคือประมาณ 18-20 คน ซึ่งเป็น Cooperate Booking ที่ Work From Home แล้วอยากมีกิจกรรมให้ทุกคนมารวมกัน ก็จะป็นประมาณ 18-20 จอเรียงกันเล็ก ๆ แทบจะดูหน้ากันไม่ออก
ความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการสอนออนไลน์
“มีหลายอย่าง แขกที่จองเข้ามาในแบบบริษัทเขาก็ไม่ได้มี Theme อะไรให้เราเป็นพิเศษ คือเขาแค่อยากให้พนักงานเขามาเจอกันทำอะไรร่วมกัน พอดีมีคนของ Netflix จองเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นส่วนของแผนกเล็ก ๆ แขก 4 คนมาจากคนละแผนก ไม่รู้จักกัน เจ้านายเขาให้โจทย์มาว่าให้แต่ละคนแชร์ความภูมิใจที่สุดในชีวิต เขาก็แลกเปลี่ยนเล่าช่วงเวลาที่ประทับใจที่สุดในชีวิตของเขา ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ จุดประสงค์ที่เจ้านายจองคือต้องการให้ลูกน้องทำความรู้จักกัน ทุกคนก็พร้อมแชร์เรื่องราวของตัวเอง เราก็พลอยได้ฟังเรื่องราวไปพร้อมกับเขา เราคงไม่ได้เจออะไรแบบนี้ ถ้าไม่ได้มาทำตรงนี้”
“ในฐานะโฮสต์เอง ก็ได้เรียนรู้เปิดโลกใหม่ ๆ จากคนที่มาลงคอร์สกับเรา อย่างช่วงที่มีเหตุการณ์ Black lives matter ประท้วงที่มินิโซต้า เซสชั่นนั้นเป็นแขกอเมริกาประมาณ 7-8 คน และมีคนหนึ่งอยู่ในตัวเมืองที่มีการประท้วง พอนั่งทำอาหารกันไปเรื่อย ๆ แขกบอก เฮ้ย ฉันมีอะไรจะให้ดู แล้วเขาก็เอากล้องเขาหันที่หน้าต่าง อพาร์ทเม้นท์เขาอยู่ชั้น 2 ข้างล่างเห็นคนกำลังเดินประท้วงกันอยู่เลย เหมือนกำลังดูไลฟ์สดจาก CNN เลย เป็นความรู้สึกที่แปลกดี เรามาเรียนทำกับข้าวออนไลน์ แต่ได้ร่วมไปกับสถานการณ์โลกในตอนนั้น ทุกคนก็มีความรู้สึกร่วมไปกับเขา แสดงความห่วงใยกับแขกคนที่อยู่ในสถานการณ์ตรงนั้น เรากลายเป็นหนึ่งเดียวกันในช่วงเวลาตรงนั้น”
ความสันพันธ์ คอนเนคชั่นที่สร้างได้ผ่านหน้าจอ
แม้ว่าจะไม่ได้เจอกับแขกตัวเป็น ๆ แต่คุณตติยาก็หวังว่าเมื่อโควิดซาลง จะได้จัด Dinner ตัวต่อตัวกับแขกที่เคยสอนออนไลน์
“เมื่อจบคลาส เบียรจะบอกแขกที่เข้าร่วมว่า ถ้าได้มาเมืองไทย ให้บอกนะ เพราะว่าเราอยากให้ประสบการณ์เต็ม ๆ กับเขา เราจะชวนเขามาที่บ้าน แล้วทำอาหาร 2 จานในคลาสออนไลน์เขากิน เพื่อที่จะเห็นว่าอาหารที่เราทำจริง ๆ นั้นหน้าตามันเป็นยังไง เขาจะได้กลับมาชิม
เราเฝ้ารอวันที่มีแขกคนแรกที่เราเคยสอนออนไลน์ แล้วมาที่บ้านมากินอาหารตัวต่อตัว ถ้าถึงวันนั้นเราคงจะฟินมาก”
จะทำ online experience ต่อไปไหม หลังโควิดสงบ?
“ตราบใดที่มีคนจอง คิดว่าเขา (Airbnb) น่าจะเก็บตรงนี้ไว้ แต่เบียร์คาดว่ายอดจองคงน้อยลงเยอะ แขกของเบียร์กว่า 80% มาจากฝั่งอเมริกา และน่าจะเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ที่เขาไม่เคยมาเมืองไทย แล้วก็ออกแนวลักษณะว่าไม่น่าจะค่อยเที่ยว มีคนประเภทที่ไม่ค่อยเดินทาง แต่ก็ยังอยากจะทำอะไรประมาณอย่างนี้
คิดว่าหลังโควิด น่าจะยังมีจองอยู่บ้าง จากแขกที่ชอบการพูดคุยกับคนทั่วไป แทนที่จะไปดูสูตรตามอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นช่องทางที่สะดวก คือเขาไม่จำเป็นจะต้องเดินทางมาถึงที่นี่เพื่อที่จะมาเรียนทำอาหารไทย แขกสามารถอยู่ครัวตัวเอง ไม่ต้องไปไหน ก็สามารถเรียนทำอาหารกับเราได้”
เมื่อมาถึงช่วงท้ายของการพูดคุยอย่างสนุกสนานเกือบหนึ่งชั่วโมง The Thaiger ขอให้คุณตติยาให้กำลังใจคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังประสบปัญหาจากโควิด-19 ที่การระบาดระลอกใหม่จะโหมซัดเข้ามาซ้ำ โดยที่รอบแรกก็ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
“อย่างของตัวเอง เบียร์จะมองสถานการณ์ในแง่ร้ายที่สุด ไม่รู้เมื่อไหร่จะเปิดประเทศ ไม่รู้จะได้วัคซีนเมื่อไหร่ ถ้าเราต้องอยู่กับสถานการณ์อย่างนี้ไปถึงสิ้นปี เราจะยังโอเคไหม ค่าใช้จ่ายจะเป็นยังไงในสถานการณ์ที่แย่ที่สุด คิดคำนวณล่วงหน้าไว้ก่อน เราเซฟอะไรได้บ้าง ที่สามารถพยุงเราไปจนถึงสิ้นปี
ในแง่ธุรกิจ เราก็เห็นว่า ธุรกิจอะไรที่เป็น New normal ทั้งหลายที่เกิดมาหลังโควิด ถ้าอันไหนที่เข้าทาง ก็ไปได้เลยจริง ๆ เช่น ดิลิเวอร์รี่ ขายของส่ง เกิดธุรกิจแนวใหม่เยอะแยะไปหมด เราก็ต้องพยายามคิดว่าอะไรที่นำมาปรับใช้ได้
ที่สำคัญ ถ้ามีโอกาสเข้ามา แล้วคิดว่าน่าจะเวิร์ค ยิ่งถ้าเป็นอะไรที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน อยากจะทำก็ลองทำเลย เบียร์เคยลองชวนหลายคนมาทำออนไลน์ เขาก็ไม่ทำเพราะคิดว่าไม่น่าจะเวิร์ค กลายเป็นว่าตอนนี้ online experience ปิดรับโฮสต์ใหม่ไปแล้ว เพราะคนสมัครเข้าไปเยอะมาก ทาง Airbnb เลยหยุดรับไปก่อน เพื่อจะได้มีเวลาไปพิจารณาคนที่สมัครเข้ามา หลายคนเลยพลาดโอกาสไป
ฉะนั้นถ้ามีโอกาสเข้ามา ต้องลองผิดลองถูก ของเบียร์ไม่ต้องลงเงิน แค่ลงเวลาอย่างเดียว เราก็บอกตัวเองว่า ก็ลองสิ จะรออะไร”
อย่ารอโอกาส พยายามสร้างโอกาส หรือถ้ามีโอกาสเข้ามา อย่าปล่อยให้มันผ่านไป ให้รับคว้าไว้ – คุณตติยากล่าวทิ้งท้าย