เปิดประวัติ บ้านพิษณุโลก อายุนับ 100 ปี กับตำนานบ้านพักนายกที่ไม่ได้อยู่
ชวนอ่านประวัติ บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรือนรับรองแขกสำคัฐของรัฐบาลไทย กับตำนานบ้านพักที่ไม่มีใครกล้าอยู่
บ้านพิษณุโลก หรือ บ้านบรรทมสินธุ์ เปรียบเสมือนไวท์เฮาส์ที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาใช้พักอาศัยขณะดำรงตำแหน่ง แต่ทำไมเราถึงไม่เคยเห็นนายกรัฐมนตรีของไทย เข้าไปพักในบ้านพิษณุโลกกันเลย วันนี้ Thaiger ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ บ้านพิษณุโลก ให้มากยิ่งขึ้น ว่ามีประวัติอะไรที่น่าสนใจบ้าง ฉะนั้นใครพร้อมแล้ว มาทำความรู้จักไปพร้อมกันได้เลย
ประวัติ บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกฯ ไทย
บ้านพิษณุโลก คือ บ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีของไทย และเรือนรับรองแขกคนสำคัญของรัฐบาลไทย ที่ตั้งอยู่บน ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล
เดิมบ้านหลังนี้ มีชื่อว่า ‘บ้านบรรทมสินธุ์’ เป็นบ้านพระราชทานโดยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานแก่มหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวดา บุตรชายคนเล็กของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว. ละม้าย พึ่งบุญ) กับ พระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ)
บ้านพิษณุโลก ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2465 โดยช่างชาวอิตาลี ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เคยสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ประกอบด้วย ตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นตึกประธาน และมีตึกบริวาร เรียงรายกันไป นอกจากนี้ยังมีการจัดสวนและสระน้ำขนาดใหญ่แบบธรรมชาติ มีส่วนป่าเขาดิน ภูเขาจำลองขนาดย่อม มีน้ำตกเล็ก ๆ ไหลริน บนยอดเขามีศาลเทพารักษ์ ไว้เคารพบูชา
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 พระยาอนิรุทธเทวา ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงปฏิเสธ และเมื่อถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาอนิรุทธเทวานำครอบครัวย้ายไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้บ้านหลังนี้ถูกทิ้งร้างในที่สุด
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เปิดบ้านหลังนี้ให้เป็นที่รับรองของนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกฯญี่ปุ่น และติดต่อขอซื้อจากพระยาอนิรุทธเทวา จำนวน 25 ไร่ เป็นเงิน 500,000 บาท ในปี 2485 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านไทย-พันธมิตร’ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประสานงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
ภายหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม บ้านหลังนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ‘บ้านสันติภาพ’ และในปี พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บ้านพิษณุโลก’ เนื่องจากบ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลกนั่นเอง
สาเหตุที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนกล้าอยู่บ้านหลังนี้ เพราะมีตำนานเล่ากันว่าเป็นบ้านผีดุ ผีที่นี่เฮี้ยนมาก โดยข่าวลือนี้เริ่มมาจากการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าพักได้เพียง 2 วัน แล้วย้ายออกไป ในขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้ใช้บ้านหลังนี้เป็นเพียงสถานที่รับแขก
นายกรัฐมนตรีผู้กล้าคนสุดท้ายคือ นายชวน หลีกภัย ที่ตัดสินใจเข้าพักทั้ง 2 สมัย แต่เจ้าตัวก็นอนที่โซฟาหน้าห้องทำงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้ห้องนอนแต่อย่างใด เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าของบ้าน นับแต่นั้นมาก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนกล้านอน ที่นี่อีกเลย มากที่สุดก็แค่ใช้เป็นสถานที่นัดประชุมและรับแขกคนสำคัญเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบัน บ้านพิษณุโลก ยังคงเป็นบ้านพักรับรองของนายกรัฐมนตรีไทย แต่นายกรัฐมนตรีหลายคนต่างหลีกเลี่ยงที่จะเข้าพักบ้านหลังนี้ เพราะกลัวกับเหตุการณ์อาถรรพ์ที่เล่าขานต่อกันมา ทำให้บ้านพิษณุโลก กลายเป็นบ้านพักนายกฯ หลังอาถรรพ์ที่ไม่มีใครกล้าอยู่
ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย นายเศรษฐา ทวีสิน มีความตั้งใจที่อยากจะใช้บ้านพิษณุโลกจัดประชุมกรณีพิเศษบางวาระงานที่ไม่ได้สำคัญมาก เพื่อที่จะได้สลับใช้กับห้องประชุมในทำเนียบรัฐสภา ส่วนแนวคิดที่จะมาพักผ่อนนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะไม่มาใช้ แต่จะใช้ห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า
ขอบคุณข้อมูลจาก – 1