24 มิถุนายน 2475: 88 ปี จากอภิวัฒน์สยาม สู่ประชาธิปไตยอันขลุกขลัก
24 มิถุนายน 2475: 88 ปี จากอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตยอันขลุกขลัก
การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้นจากสภาพปัจจัยทั้งภายในประเทศและสภาพสังคมโลก การปฏิวัติสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบจากสมบูรณญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตยใช่ว่าอยู่ ๆ จะเกิดขึ้นมา แต่เหตุปัจจัยนั้นปูมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2460 มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวางถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบ ปฏิเสธระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยปัจจัยหนึ่งคือการเปรียบเทียบความเจริญ ศิวิไลซ์สยามกับประเทศตะวันตก และหลายคนฟันธงไปว่าเกิดจากระบบอันไม่เอื้อต่อการให้คนเล็กคนน้อยได้เติบโตขึ้นมาตามความสามารถ
ในหน่วยงานข้าราชการเอง ก็มีคนทำงานทั้งเชื้อพระวงศ์และสามัญชน ฝั่งสามัญชนเองได้เรียกร้องให้การเลื่อนขั้นตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละบุคคล ไม่ใช่สายเลือด เส้นสาย หรือความจงรักภักดี ความไม่พอใจดังกล่าวได้สุมเชื้อมาจนถึงกระทั่งช่วงเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ปัจจัยหนึ่งอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลก ทำให้รัฐต้องปลดข้าราชการบางส่วนเพื่อลดภาระข้าใช้จ่าย และคนบางส่วนที่ถูกปลดส่วนใหญ่เป็นสามัญชน
ในช่วงสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ปี 2455 มีกลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ วางแผนจะโค่นล้มระบอบกษัตริย์ ตอนนั้นมีการวางแผนจะร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้เปลี่ยนคำขวัญเป็น “ชาติ ศาสนา และบ้านเมือง” แต่ทำไม่สำเร็จ มีนายทหาร 23 นาย ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดเป็นสามัญชนถูกลงโทษจำคุก 20 ปี
ด้านรัชกาลที่ 7 เองก็เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมแนวคิดในไทยและต่างประเทศ ทรงมีแนวความคิดที่จะมีรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ จนกระทั่งประเทศไทย หรือสยามในขณะนั้นได้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อ 24 มิ.ย. 24765แต่เมื่อทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา แต่งทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย
วันที่ 27 มิ.ย. 2475 คณะราฎรจึงประกาศรัฐธรรมนูญ อันมีความใน 2 มาตราแรก ว่า สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ประชาชนชาวสยามไม่ว่าเหล่ากําเนิดหรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มมครองแห่ง รัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน มาตรา 2 อํานาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยามพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
คณะราษฎร เริ่มต้นจากบุคคล 7 คน เป็นกลุ่มบุคคลรุ่นใหม่ที่ไปร่ำเรียนจากต่างประเทศประกอบด้วยสายพลเรือน คือ 4 คน ที่รู้จักดีคือ ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม) นักกฎหมายหนุ่มจากฝั่งเศส ต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และสายนักเรียนทหาร 3 คน คือ ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2470 4 ปีก่อนการปฏิวัติ พวกเขานัดวางแผนกันที่กรุงปารีส ในการปฏิวัติสยาม ก่อนต่อมาจะใช้การชักชวนนายทหารผู้ใหญ่อย่างลับ ๆ ให้ร่วมขบวนการ หนึ่งในนั้นคือ พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา กระทั่งใกล้ช่วงปฏิวัติเดือนมิถุนายน 2475 คณะราษฎรมีสมาชิกประมาณ 100 คน
และช่วงเช้าย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ทำการปฏิวัติสำเร็จ จับกุมผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์และคนใกล้ชิดประมาณ 40 คน ต่อมาเวลา 6 โมงเช้า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ความว่า
“…ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎร บางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวัง
กันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม…เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเมืองที่ได้รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของ กษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา ได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎร
ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้…”
พร้อมกันนี้ได้ร่างหลัก 6 ประการคือ
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุก ๆ คนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
การปฏิวัติดำเนินไปสำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ แต่ใช่ว่าหลังจากนั้นจะเป็นการอภิวัฒน์ที่เต็มไปด้วยความราบรื่น เพียงไม่ถึง 1 ปี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก ก็ทำรัฐประหารตัวเอง ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากนั้นการรัฐประหารในประเทศไทยก็เกิดขึ้นตามมาอีก 2 ครั้ง ราวกับเป็นวัฏจักรที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาทุกยุคสมัย
นอกจากนี้ยังเกิดการกบฎอีกหลายครั้ง ครั้งแรก คือ กบฏบวรเดช เมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 247 สาเหตุมาจากความต้องการที่จะนำระบอบเก่ากลับมา นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประกาศสละราชสมบัติ
ในฝ่ายคณะราษฎรเองก็มีการแบ่งแยกกันภายใน แตกเป็น 2 กลุ่มคือฝั่งพลเรือน นำโดยปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มทหาร นำโดยแปลก ขีตตะสังคะ หรือหลวงพิบูลสงคราม คนรุ่นหลังรู้จักกันในนามจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุของความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางทิศทางในการดำเนินกิจของรัฐ โดยความขัดแย้งของทั้งสองได้เด่นชัดขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสุดท้ายปลายทางต้องลี้ภัยไปต่างประเทศทั้งคู่
ประชาธิปไตยในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 88 ปี ผ่านการตั้งไข่ และล้ม(ลุก)คลุกคลานมาอย่างยากลำบากและทุลักทุเล ถูกผัดเปลี่ยนครอบงำโดยอำนาจจากแต่ละฝ่าย เหตุการณ์ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงถูกเรียกว่ายุคที่ประชาธิปไตยไทยแบ่งบานมากที่สุด ต้นกล้าของความคิดเสรีแตกหน่อขึ้นในมหาวิทยาลัยในหมู่นักศึกษา เกิดแนวคิดซ้ายใหม่ ก่อนที่จะถูกโค่นลงในช่วง 6 ตุลาคม 2519 อย่างราบคาบ และเข้าสู่ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบในช่วงทศวรรษ 2520 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ในช่วงทศวรรษปี 2540 ถึงเป็นการพัฒนารูปแบบทางการเมืองเข้าสู่รูปแบบการเมืองใหม่ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นสำเร็จ และการเข้ามาของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรัฐบาลแรกที่อยู่จนครบวาระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก่อนที่ในรัฐบาลยุคทักษิณ 2 จะถูกรัฐประหารในปี 2549 หลังจากนั้นการเมืองไทยก็ติดอยู่ในวังวนความขัดแย้ง และวัฏจักรรัฐประหารก็ดำเนินถึงวาระอีกครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ล้มรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ และพลเอกประยุทธ์ก็ยังอยู่ในเก้าอี้ผู้นำมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ร่มเงาของพรรคพลังประชารัฐ