สุขภาพและการแพทย์

มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 3 กลุ่มกิจการ มีอะไรบ้าง เช็กเลย

มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 3 กลุ่มกิจการ มีอะไรบ้าง เช็กเลย

ผ่อนปรนระยะ 2 มีอะไรบ้าง – นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค ระบุถึงมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 ว่า วันนี้จะเป็นการประกาศอย่างไม่เป็นทางการเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเพราะจะต้องรอมติจากที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 15 พ.ค. นี้ โดยมีการแบ่งกลุ่มกิจการ/กิจกรรม ในระยะที่ 2 ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มกิจการ/กิจกรรม ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน

ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหารและร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มขนมหวาน ไอศกรีม ในอาคารสำนักงาน

ข. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้น โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม และศูนย์พระเครื่อง สนามพระ พระบูชา

ค. ร้านค้าปลีก ค้าส่ง อื่น ๆ

ง. ร้านเสริมสวย (ย้อมผม ดัดผม หรือ กิจกรรมอื่น ๆ ภายในเวลาการบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง) และร้านทำเล็บ

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มกิจการ/กิจกรรม ด้านการออกกำลังกาย หรือ ดูแลสุขภาพ

ก. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ควบคุมน้ำหนัก

ข. สนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้ง และตามกติกาสากลเล่นเป็นทีม ไม่มีผู้ชม

ค. สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มกิจการ/กิจกรรม อื่น ๆ ได้แก่

การประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับ Video Conference (จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่) และทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป(จำนวนไม่เกิน 5 คน)

โฆษก ศบค. ย้ำว่ามาตรการผ่อนปรนสถานที่ประกอบกิจการ/กิจกรรมต่าง ๆ ยังเป็นเพียงร่างที่จะต้องผ่านการประชุมหารืออีกหลายครั้งกับทางกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง ผู้ประกอบการและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของกิจการ/กิจกรรมได้

ดังนั้น ต้องเรียงลำดับตามความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ของตน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้เข้ารับบริการ รวมถึงต้องมีมาตรการป้องกันตนเองด้วย

โฆษก ศบค. กล่าวถึงความคืบหน้าแอปพลิเคชันรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการติดตามตัวบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ได้ปรากฏอยู่ในข้อกำหนด ซึ่งอาจจะมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แอปพลิเคชันเพื่อเป็นตัวช่วยในการติดตามรักษา ซึ่งอาจจะมีความคล้ายคลึงกันกับประเทศเกาหลีใต้ที่ได้นำเอาระบบไอทีมาใช้ในการติดตามประชาชนในประเทศ โดยหน้าที่ของแอปพลิเคชันดังกล่าว นอกจากจะช่วยในการติดตามตัวบุคคลแล้ว ยังสามารถใช้ในการประเมินความพึงพอใจในการให้บริการของสถานที่นั้นได้อีกด้วย ถือเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสำหรับผู้ที่จะเข้ารับบริการคนต่อไปได้พร้อมย้ำว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ เพื่อเป็นการตอบแทนสังคม ให้เรามั่นใจได้ว่าสังคมที่เราอยู่นั้นมีความปลอดภัย และปลอดโรค ความแน่นแฟ้นของสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ และก้าวสู่ระยะต่อไปได้

สำหรับโครงการตู้ปันสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นการส่งมอบความสุขด้วยอาหารข้าวของเครื่องใช้ผ่านตู้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงการแบ่งปัน ห่วงใยซึ่งกันและกันของคนไทย เพื่อพร้อมที่จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button