ได้เพิ่มอีกเสียง ไพบูลย์ นิติตะวัน สมัครพรรคพลังประชารัฐแล้ว
ได้เพิ่มอีกเสียง ไพบูลย์ นิติตะวัน สมัครพรรคพลังประชารัฐแล้ว
ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ – จากกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปคำร้องยื่นยุติกิจการพรรค ต่อมาวันที่ 6 กันยายนราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองนั้น
ตามกฎหมายพรรคการเมืองนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวันต้องไปหาสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน ซึ่งวันนี้ (9 กันยายน) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแบบถาวรตามที่ได้มีกระแสข่าวไปก่อนหน้า ไม่พลิกโผ ตอนนี้นายไพบูลย์มีชื่อในทะเบียนของพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นสมาชิกพรรคโดยสมบูรณ์
จากนั้น นายไพบูลย์จะต้องยื่นหนังสือถึงประธานสภา นายชวน หลีกภัย พร้อมแนบเอกสารเป็น สำเนาประกาศกกต. เรื่องสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคเก่า สำเนาหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพลังประชารัฐ สำเนาใบเสร็จค่าสมัคร 2,000 บาท และ สำเนาใบสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
หากการแก้ไขข้อมูลในทะเบียนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเป็นผล จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐ จะเพิ่มขึ้นจาก 116 เป็น 117 เสียง
อย่างไรก็ดี การโอนย้ายนายไพบูลย์ นิติตะวันเป็นส.ส.พรรคพลังประชารัฐต้องเป็นเรื่องที่ติดตามต่อไปว่าสามารถทำได้ทันที หรือต้องมีการคำนวณสัดส่วนส.ส. ใหม่ อ้างอิงจาก ข้อความของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่ระบุว่า การที่นายไพบูลย์จะไปเป็นส.ส. ใหม่ในนามสังกัดพรรคพลังประชารัฐนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากกติกาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2562 แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า
“1. โอนคะแนนไปให้พรรคใหม่ไม่ได้ เพราะตอนประชาชนกาบัตร เขาไม่ได้กาให้พรรคใหม่ (พลังประชารัฐ)
2. กกต.ต้องคำนวณ ส.ส บัญชีใหม่ทั้งระบบ โดยตัดคะแนนพรรคคุณไพบูลย์ออก และจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก ส.ส.ที่พึงจะมีแต่ละพรรคใหม่
3. คุณไพบูลย์ ต้องเลือกไปอยู่พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม(หากเขารับ) และคงสถานะเป็น ส.ส. (แต่หากไม่รับ ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง)
4. ไม่ควรจบง่ายๆว่า ยุบแล้วไปอยู่พรรคไหนก็ได้ทันที เพราะเช่นนั้น บรรดาพรรค 1 เสียงทั้งหลายจะทำตาม เพื่อหลีกความเสี่ยงในความไม่แน่นอนที่ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 ปี หลังจาก 24 มีนาคม 2562 ว่าอาจถูก กกต.คำนวณใหม่ และหมดสภาพการเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับ กรณีพรรคไทยรักธรรม
เรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตามอง
และดูแนวการวินิจฉัยจาก กกต.ชุดปัจจุบันว่าจะมีมติอย่างไร
ภาพจาก : วิทยุและโทรทัศน์ รัฐสภา