ศาลปกครอง ยกฟ้องประธาน กสทช. ไม่ผิดปมละเลยหน้าที่ ใช้อำนาจถูกต้อง

ศาลปกครอง ยกฟ้องประธาน กสทช. ไม่ผิดปมละเลยหน้าที่ จากกรณีแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ชี้ถือเป็นการใช้อำนาจถูกต้อง
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1764/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 1399/2568 ระหว่าง พลอากาศโท ธ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) และนาย ต รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้องสอด)
คดีนี้สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 30/2565 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบให้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 600,000,000 บาท สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่สัญญาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022
ต่อมาเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จนนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รายงานผลต่อที่ประชุม กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2566 โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยรองเลขาธิการ กสทช. (นาย ต ผู้ร้องสอดที่1) และให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จากผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นรองเลขาธิการ กสทช. อีกคนหนึ่ง (ผู้ร้องสอดที่ 2)
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามมติดังกล่าวเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามมติดังกล่าว
ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยว่า กรณี กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ร้องสอดที่ 1 นั้น ผู้ร้องสอดที่ 1 แม้จะเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แต่ตำแหน่งเดิมคือรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งมีสถานะเป็น “พนักงาน” ของสำนักงาน กสทช.
การดำเนินการทางวินัยผู้ร้องสอดที่ 1 จึงต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช. ที่จะพิจารณาสืบสวนและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กสทช.
ในฐานะองค์กรคณะบุคคลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงได้โดยตรง มติของ กสทช. ในส่วนนี้จึงเป็นมติที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อยู่ในขณะนั้น ย่อมเข้ากรณีที่มีเหตุที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ตามมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เนื่องจากเป็นคู่กรณีเสียเอง อำนาจในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงต้องตกแก่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่ง ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ซึ่งตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดให้เลขาธิการ กสทช. ขึ้นตรงต่อประธาน กสทช. ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธาน กสทช. จึงเป็นผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามมติของ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ที่มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นมติที่ไม่มีอำนาจสั่งการได้โดยตรง จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
สำหรับมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ในส่วนที่ให้มีการเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จากผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 นั้น เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ.2555 ข้อ 6 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. แต่งตั้งรองเลขาธิการคนหนึ่งตามที่เห็นสมควรเป็นผู้รักษาการแทน
แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้การริเริ่มเสนอชื่อและแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะประธาน กสทช. เพื่อให้การปฏิบัติงานของเลขาธิการ กสทช. ซึ่งต้องขึ้นตรงต่อประธาน กสทช. เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ส่วนอำนาจของ กสทช. ทั้งคณะนั้นอยู่ในขั้นตอนของการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับที่เป็นสาระสำคัญ หาก กสทช.ไม่เห็นชอบ ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่อาจแต่งตั้งบุคคลนั้นได้ ดังนั้น มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 ในส่วนที่ให้มีการเปลี่ยนผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. จากผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 ซึ่งมิได้มาจากการเสนอของผู้ถูกฟ้องคดี จึงไม่มีผลทางกฎหมายเป็นคำสั่งที่ผูกพันให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือกอื่นแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดที่1 พ้นจากรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และไม่แต่งตั้งผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ตามมติที่ประชุม กสทช. ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 จึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด ศาลพิพากษายกฟ้อง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กสทช ประกาศตัด “ฟุตบอลโลก” ออกจากกฎ Must Have คนไทยอดดูฟรี
- ศาลปกครอง ยืนยัน ไม่ได้สั่ง “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้คดีจำนำข้าว หมื่นล้าน
- ศาลปกครอง เปิดบริการ คัดสำเนาคำพิพากษา ผ่านแอปฯ ศาลปกครอง และ ทางรัฐ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: