
สภาฯ ไฟเขียว เพิ่มวันลาคลอดเป็น 120 วัน ฝ่ายหนุนชี้เป็นก้าวสำคัญ คู่สมรสลาไปช่วยเลี้ยงลูกได้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง
วานนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติท่วมท้นในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดโดยยังได้รับค่าจ้างเป็น 120 วัน จากเดิม 98 วัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสวัสดิการแม่และเด็ก ขณะที่ข้อเสนอจากพรรคฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมที่ต้องการผลักดันให้ถึง 180 วันยังไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งให้วุฒิสภา (สว.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ ลาคลอด 120 วัน
กฎหมายฉบับที่ผ่านสภาฯ นี้มีหัวใจสำคัญคือการแก้ไขมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มจำนวนวันลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 120 วัน กไม่เพียงเพิ่มจำนวนวันลา แต่ยังเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถเพิ่มวันลาในอนาคตผ่านการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับเปลี่ยนทำได้รวดเร็วกว่าการแก้ไข พ.ร.บ. ในสภาฯ หากเศรษฐกิจและความพร้อมของประเทศเอื้ออำนวย
นอกจากนี้ ยังเพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างหญิงที่ลาคลอดสามารถลาอย่างต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูบุตรในกรณีที่บุตรมีภาวะความเจ็บป่วย มีความผิดปกติ หรือภาวะความพิการ รวมทั้งให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสผู้คลอดบุตรเลี้ยงบุตรได้
เพิ่มจำนวนวันจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างหญิงลาคลอดบุตร ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างหญิงต่อเนื่อง และให้จ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา 50% ของค่าจ้างวันลา ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างซึ่งใช้สิทธิลาเพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่คลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างวันทำงานตลอดระยะวันลา แต่ไม่เกิน 15 วัน
มติในวาระที่ 3 ผ่านไปด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 406 เสียง ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 6 เสียง แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง
แม้สภาฯ จะเห็นชอบที่ 120 วัน แต่ในระหว่างการพิจารณามีการอภิปรายอย่างเข้มข้นจากกรรมาธิการเสียงข้างน้อยและ สส. ที่ต้องการผลักดันให้เพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน โดยให้เหตุผลหลักดังนี้
คุณวรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคประชาชน อ้างอิงคำแนะนำของ UNICEF และองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าการให้แม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน (180 วัน) จะสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เด็ก และช่วยให้แม่ฟื้นฟูร่างกาย ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เธอยังเสนอให้แบ่งวันลาให้ “คู่สมรส” ช่วยเลี้ยงดูบุตรได้ 90 วัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
คุณเซีย จำปาทอง สส.ปีกแรงงาน และ คุณนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากกลุ่ม WeFair ชี้ว่าการเพิ่มวันลาเป็น 180 วันสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม (168 วัน) และสวีเดน (480 วัน) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตประชากรเด็กเกิดน้อยของไทย และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ลดภาระให้ผู้หญิงไม่ต้องเลือกระหว่างการทำงานกับการมีบุตร
ฝ่ายหนุน 180 วันโต้แย้งข้อกังวลด้านงบประมาณ โดยระบุว่าข้อมูลจากคณะกรรมการประกันสังคมชี้ว่า การเพิ่มสิทธิเป็น 180 วัน จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นราว 3,000 ล้านบาท ซึ่ง “ไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนอย่างมีนัยสำคัญ”
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (กมธ.) ซึ่งเป็นผู้ร่างหลักของกฎหมายฉบับนี้ ได้ชี้แจงเหตุผลที่เสนอตัวเลข 120 วัน ว่ามาจากการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว โดยมีเหตุผลสำคัญคือ
สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทุกคนเห็นตรงกันเรื่องการเพิ่มสิทธิ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การเพิ่มเป็น 120 วันถือเป็น “ก้าวเดินที่สำคัญ” และเหมาะสมที่สุดในเวลานี้
ภาระของนายจ้าง ความสามารถในการจ่าย ว่านายจ้างยังคงต้องรับภาระจ่ายค่าจ้างส่วนหนึ่ง หากเพิ่มวันลามากเกินไปในทันที อาจสร้างแรงกดดันให้ภาคเอกชนจนเกิด “การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิง” ในการจ้างงานได้
กมธ.ย้ำว่า 120 วันเป็นเพียงสิทธิขั้นต่ำตามกฎหมาย หากบริษัทเอกชนใดมีความพร้อม ก็สามารถให้สิทธิลาคลอดแก่พนักงานได้มากกว่า 120 วันโดยไม่มีความผิด
หลังจากผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา หาก สว. เห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สาวท้องแก่เครียด ลาคลอดตามสิทธิ ถูกเพื่อนร่วมงานด่า “เบียดเบียนคนอื่น” ทนไม่ไหวยอมลาออก
- หญิงจีนวางยาเพื่อนร่วมงาน หวังให้แท้งลูก ไม่อยากให้ลาคลอด กลัวทำงานหนัก
- ลาคลอดได้กี่วัน ? หลังประกันสังคมปรับสิทธิให้คุณแม่ลูกจ้าง
ติดตาม The Thaiger บน Google News: