
ศาลยกฟ้องผู้บริโภค ถูกมิจฉาชีพดูดเงินจากบัตรเครดิต ชี้ธนาคารต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนภาระให้ลูกค้า
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยถึงผลตัดสินคดีสำคัญ ที่อาจเป็นหลักหมุดหมายให้คนไทยที่ถูกมิจฉาชีพดูดเงินได้ ว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษา ยกฟ้องคดีที่ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกค้ารายหนึ่ง เรียกเงินชดใช้หนี้บัตรเครดิตรวมกว่า 370,000 บาท จากเหตุถูกมิจฉาชีพหลอกถอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร
ย้อนกลับไป ผู้บริโภคหญิงรายหนึ่ง ร้องเรียนต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าเธอ ถูกมิจฉาชีพเจาะเข้าระบบแอปพลิเคชันของธนาคาร ถอนเงินสดจากวงเงินบัตรเครดิตจำนวน 297,000 บาท ภายในเวลาอันสั้น พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมเป็นยอดฟ้อง 371,608.56 บาท ทั้งที่เธอไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง
ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจึงส่งทนายเข้าให้ความช่วยเหลือ ต่อสู้คดีจนศาลมีคำพิพากษา ยกฟ้อง ระบุว่า ผู้บริโภคไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของระบบธนาคาร
คำพิพากษาระบุว่า ธนาคารในฐานะผู้ให้บริการระบบการเงินตาม พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ต้องมี มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม หากมีบุคคลภายนอกเข้าถึงบัญชีและทำธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความบกพร่องของธนาคารเอง
ศาลยังชี้ว่า ลูกค้ารายนี้ไม่เคยมีพฤติกรรมเบิกถอนเงินสดมาก่อน การที่มีธุรกรรมถอนเงินจำนวนมากเกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ ควรถูกระบบของธนาคารตรวจจับและระงับ ไม่ใช่ปล่อยผ่านแล้วมาเรียกร้องเงินจากลูกค้าในภายหลัก ศาลยังอ้างถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ที่ระบุชัดว่า ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับบริการที่ปลอดภัย จากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งในกรณีนี้ ธนาคารละเลยหน้าที่ในการปกป้องข้อมูลและธุรกรรมของลูกค้า
คำพิพากษาคดีนี้ถือเป็น ชัยชนะของผู้บริโภค เป็นบรรทัดฐานสำคัญที่ ธนาคารต้องมีระบบป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องแบกรับความเสียหายจากช่องโหว่ของระบบเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศาลจำคุก บัญชีม้า 119 ปี ตร. เตือนแรง โทษหนัก คนไทยอย่าขายชาติ
- สุนารี เตือนภัยกลโกงใหม่ มิจฉาชีพ อ้าง โอนเงินล้านผิดบัญชี หวังรูดทรัพย์หากหลงเชื่อ
- “นายกอิ๊งค์” คุย “มาครง” กระชับความสัมพันธ์ ย้ำบทบาทปราบมิจฉาชีพ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: