เศรษฐกิจ

วีระยุทธ เปิด 4 ข้อเสนอ แก้เกมภาษีทรัมป์ ชี้ ไทย เสี่ยงเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

วีระยุทธ เตือน 4 ข้อรับมือภาษีทรัมป์ที่ 36% ชี้เป็นสัญญาณอันตราย ไทยเสี่ยง เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง แนะรัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดี ช่วย SME จัดการสินค้าสวมสิทธิ์ และรื้องบประมาณ

(วันที่ 8 กรกฎาคม 2568) นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับ 4 ข้อเสนอ รับมือภาษีทรัมป์ หลังจากไทยถูกเรียกเก็บ 36% ตามที่ได้รายงานก่อนหน้านี้ โดยได้มองว่าสถานการณ์ตอนนี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนภัย แนะไทยตั้งหลักให้ดี และพิจารณาข้อเสนอที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

1. ตอนนี้คือสัญญาณเตือนภัย ตอนต่อไปอันตรายกว่า

สถานการณ์ตอนนี้เปรียบเสมือนประธานาธิบดีทรัมป์สร้าง “หลุมดำ” ดูดให้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกรีบวิ่งกรูเข้ามายื่นข้อเสนอใหม่ให้สหรัฐฯ ตอนนี้เกมยังไม่จบ และไทยยังไม่เผชิญ worst-case scenario สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ การเจรจารอบต่อไปก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม ซึ่งหากรัฐบาลไทยไม่ตั้งหลักให้ดีๆ ก็อาจยอมทุ่มทุกอย่าง เพื่อให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษีจาก 36% ลงมา โดยสิ่งที่จะนำไปแลกไม่ใช่แค่ลดภาษีนำเข้าเพื่อเปิดตลาดไทยเท่านั้น แต่อาจจะรวมถึงไพ่อื่นๆ ที่เรามี อย่างมาตรการการควบคุมคุณภาพ ข้อกำหนดด้านสุขอนามัย รวมถึงนโยบายความมั่นคงด้วย

ภาพโพสต์ของ วีระยุทธ รองหัวหน้าพรรคประชาชน เสนอ 4 ข้อรับมือภาษีทรัมป์
ภาพจาก: FB/ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร – Veerayooth Kanchoochat

รัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่ควรคิดถึงแต่การลดตัวเลขภาษี 36% และเป้าหมายระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยและคนไทยจากสิ่งที่เอาไปแลกด้วย เพราะหากไม่รอบคอบแล้ว ข้อเสนอที่เอาไปยื่นให้เขาในวันนี้อาจสร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยทั้งด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรในระยะยาว Worst case จะเกิดขึ้นก็เมื่อรัฐบาลเอาทุกอย่างไปแลก จนประเทศไทย “เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง” กล่าวคือ ด้านส่งออกก็จะส่งไปได้น้อยลง ในขณะที่ด้านนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมภาวะการผลิตถดถอยภายในประเทศ และลดอำนาจต่อรองของไทยในเวทีภูมิรัฐศาสตร์ เสี่ยงจะเกิด “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่รุนแรงยิ่งกว่าตอนโควิด

2. เดินหน้าช่วยกลุ่มเสี่ยง SME 4,990 บริษัท แรงงาน 500,000 คน

มาตรการที่ควรดำเนินการมานานแล้ว แต่ยังไม่เริ่มเสียทีก็คือ การเดินหน้าไปหากลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์
ไม่ใช่แค่เปิดสายด่วน แต่ต้องเป็น “แพทย์เคลื่อนที่” เดินหน้าไปรับฟังปัญหา และจ่ายยาให้ผู้ป่วย การทำงานในอนุกรรมาธิการ Trade War ได้ข้อมูลจากแบงก์ชาติว่าในบรรดา 30,000 บริษัทไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ นั้นมี SMEs อยู่ 4,990 บริษัท ทั้งหมดนี้จ้างงานรวมกัน 500,000 กว่าคน บริษัทจำนวนมากอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เกษตร โลหะ สิ่งทอ

ผู้ประกอบการที่เรารับฟังบอกว่า “ซอฟต์โลน” หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ตอบโจทย์ทุกกลุ่ม บางกลุ่มต้องช่วยพยุงจ้างงาน บางกลุ่มต้องช่วยลดต้นทุน บางกลุ่มต้องการตลาดใหม่ บางกลุ่มชะตากรรมขึ้นกับบริษัทข้ามชาติที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม

อุตสาหกรรมอย่างผู้ผลิตของเล่น เครื่องดินเผา เครื่องประดับ คือ Craft Industry ที่มือคนไทยเก่งกว่ามือชาติอื่นๆ ผู้ประกอบการไทยที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ “เก่งจริง” เพราะต้องฝ่าฟันมาทั้งคลื่นจีน คลื่นเวียดนาม คลื่นโควิด การที่พวกเขาต้องมาเจอช็อกแบบสงครามการค้าที่จะทำลายตลาดส่งออกไปจึงเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม และสะเทือนการจ้างงานหลายแสนครอบครัว
ข้อมูลมีพร้อม เหลือแค่การทำงานเชิงรุกของผู้มีอำนาจ

3. จัดการสินค้าสวมสิทธิจริงจังเสียที

ตอนเดือนเมษายนที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากไทย อ้างว่าเราได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ฝั่งไทยก็พยายามบอกว่า อย่าไปเชื่อตัวเลขส่งออกที่ว่าเยอะๆ เลย เพราะมีสินค้าสวมสิทธิ์แฝงอยู่ทั้งนั้น และประกาศฮึ่มๆ ว่าจะตรวจสอบจริงจัง แต่ผ่านไปแค่สองเดือน นอกจากจะไม่มีการกวาดล้างโรงงานสวมสิทธิ์จริงจังแล้ว ก็ยังเอาตัวเลขส่งออกที่พุ่งสูงมาประชาสัมพันธ์ด้านเดียว โดยไม่มีแนวทางจัดการกับด้านนำเข้าเลย

ปัจจุบัน มีสินค้ามูลค่าระดับพันหรือหมื่นล้านบาทที่เข้ามาใช้เราเป็นทางผ่าน นำสินค้าจากประเทศแม่มา “ใส่โจงกระเบน” แล้วส่งออกต่อไปยังประเทศที่ 3 ปกปิดแหล่งกำเนิดเดิมที่โดนแบน ทั้งนี้ รัฐบาลควรทราบว่าไม่ใช่ว่าสินค้าทุกอย่างที่ส่งไปสหรัฐฯ จะต้องขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ Certificate of Origin (CO) ถ้านับจากมูลค่า พบว่ามีสินค้าแค่ 28% เท่านั้นที่มาขอใบ C/O จึงมีโอกาสที่สินค้าสวมสิทธิจะหลุดรอดไปได้สูงมากในระบบปัจจุบัน

หากต้องการทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เกิดจากผู้ผลิตไทยหรือโรงงานต่างชาติที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มในไทยแบบชัดๆ รัฐบาลต้องเดินหน้าปราบปรามจริงจัง ในขณะที่การช่วย SME ต้องทำแบบเฉพาะเจาะจง การจัดการสินค้าสวมสิทธิควรทำด้วยการ “เล่นใหญ่” บุกไปจับโรงงานสวมสิทธิให้เป็นข่าวสักครั้ง เพื่อส่งสัญญาณให้กลุ่มทุนเทาเห็นว่า ประเทศไทยจะไม่ปล่อยให้พฤติกรรมสวมสิทธิลอยนวลอีกต่อไป

4. รื้องบใหม่ เตรียมรับแรงกระแทก

หน่วยงานราชการจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพย่อมต้องมีการจัดสรรกำลังคนและงบประมาณให้สอดคล้องกัน พรรคประชาชนเคยเตือนไว้ในการอภิปรายงบประมาณ 69 วาระหนึ่ง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมแล้ว ว่าเราไม่ควรจัดงบประมาณแบบเดิม ๆ เพราะปีนี้เป็นปีเสี่ยง “เผาจริง” ที่ปัจจัยภายนอกทุกด้าน ทั้งการท่องเที่ยวและการค้าจะส่งผลลบกับเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สายสำหรับการปรับทิศทาง เพราะขณะนี้ งบประมาณ 3.78 ล้านล้านบาทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ หากรัฐบาลพร้อมปรับใหญ่ กรรมาธิการของพรรคประชาชน 16 คนก็พร้อมทำงานด้วย ช่วยปรับการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่รัฐบาลต้องตั้งเป้าชัดเจนว่าจะนำงบประมาณไปใช้กับอะไร มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว 3.78 ล้านล้านบาทนี้คือ “เงินก้นถุง” ของประเทศที่เราทุกคนมีร่วมกันในยามวิกฤต

ได้เวลาช่วยกันทำให้เงินทุกบาททุกสตางค์นี้กลายเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ที่คนไทยสามารถยืนพิง ตั้งหลักให้มั่นในช่วงเวลาที่พายุกำลังโหมกระหน่ำครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx