ข่าวการเมือง

เปิดชื่อ 2 ตุลาการเสียงข้างน้อย หนุน แพทองธาร ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

มติ 7 ต่อ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันนี้ มติเอกฉันท์ รับคำร้อง 36 สว.ยื่นถอดถอนนายกฯ ปมคลิปเสียงคุย ฮุน เซน ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 15 วัน พร้อมเปิดชื่อ 2 ตุลาการเสียงข้างน้อย นครินทร์-อุดม สวนไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แค่ห้ามไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่ด้านความมั่นคง-การต่างประเทศ-การคลัง

สำหรับคำขอให้สั่งให้ผู้ถูกร้อง น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมากออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา โดยมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 ก.ค. 2568 เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน ให้ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก่ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 71 ห้ามมิให้ผู้ถูกร้อง (น.ส.แพทองธาร) ใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และต้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

ประวัติ 2 ตุลาการเสียงข้างน้อย หนุน แพทองธาร นั่งนายกฯ ต่อ

สำหรับ ศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” โดยได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เมื่อ 16 พ.ย. 2558

เกิดวันที่ 28 ก.ค. 2501 อายุ 65 ปี จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) ม.ธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับสอง อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาควิชาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY,ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังมีประสบการณ์การทำงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ก่อนดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์ ม.ธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ ม.ธรรมศาสตร์, รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตามลำดับ

ขณะที่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ นับเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนแรกที่มีที่มาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ นายนครินทร์เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่า สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ โดยให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

ขณะที่ประวัติของนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เกิดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 ปัจจุบันอายุ 68 ปี ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563

ประวัติการศึกษา : นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2517) , เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (พ.ศ.2518) , นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2525)

เส้นทางตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ ที่ผ่านมา

  • นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ (25 มีนาคม 2519 – 30 กันยายน 2524)
  • ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง และผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ (1 ตุลาคม 2524 – 31 ตุลาคม 2534)
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร (1 พฤศจิกายน 2534 – 10 เมษายน 2540)
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (11 เมษายน 2540 – 2 มิถุนายน 2542)
  • ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6 (3 มิถุนายน 2542 – 1 ตุลาคม 2549)
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3 (2 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2550)
  • ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5 และประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3 (1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2552)
  • รองประธานศาลอุทธรณ์ (1 ตุลาคม 2552 – 30 กันยายน 2554)
  • อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 และ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ (1 ตุลาคม 2554 – 30 กันยายน 2556)
  • ผู้พิพากษาศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557)
  • ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 (1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2559)
  • ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2561)
  • ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2561 – 25 กุมภาพันธ์ 2563)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

ทั้งนี้ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เคยเป็นข่าวฮือฮาบนโลกออนไลน์ หลังมีคลิปวิดีโอกล่าวระหว่างบรรยายสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ที่ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567

โดยนายอุดม พูดติดตลกว่า พรรคประชาชนต้องขอบคุณเขาที่ทำให้พรรคได้เงินบริจาคเพิ่ม.

ตุลาการเสียงข้างน้อย มติ 7 ต่อ 2 แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่
แฟ้มภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx