การเงินเศรษฐกิจ

หน้าซีด สรรพากร เชื่อมข้อมูลรายได้ ช้อปปี้ ลาซาด้า ไลน์แมน เช็กภาษีฉ่ำ

อธิบดีกรมสรรพากร เผย เชื่อมข้อมูลรายได้ แพลตฟอร์ทออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ ไลน์แมน แกร็บ เรียบร้อย หวังตรวจเช็กการชำระภาษี

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนแรกที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูลเงินได้จากผู้เกี่ยวข้องในรูปแบบบัญชีพิเศษจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทย เพื่อให้กรมฯ นำไปใช้ตรวจสอบการชำระภาษีได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และไม่สร้างภาระแก่ผู้เสียภาษี

“ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เข้าข่ายต้องส่งข้อมูลมายังกรม อาทิ ช้อปปี้, ลาซาด้า, แกร็บ, ไลน์แมน ส่วนเฟซบุ๊ก ยูทูบ อาจยังไม่เกี่ยว เพราะไม่ได้จดทะเบียนในไทย โดยข้อมูลที่แพลตฟอร์มจัดส่งให้สรรพากร จะเป็นยอดรายรับของแพลตฟอร์ม ที่ได้รับจากนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ที่ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม และจ่ายค่าธรรมเนียมการขายแพลตฟอร์ม

ตัวอย่าง ร้าน ฮ. เปิดร้านขายอาหารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มียอดขาย1,000 บาท และต้องถูกแพลตฟอร์มหักค่าธรรมเนียมจากยอดขาย 200 บาท ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มนั้น จะต้องแจ้งสรรพากรว่า รายได้ 200 บาทนั้นมาจากใคร ซึ่งในข้อมูลบัญชีพิเศษนี้ คาดจะเกี่ยวข้องผู้คนหลักหลายแสนคน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทำธุรกิจค้าขายสินค้าออนไลน์ หรือเปิดร้านอาหารร้านบนแอป

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในความพยายามของสรรพากรที่ต้องการขยายฐานภาษีไปยังประชาชนกลุ่มใหม่ เนื่องจากปัจจุบันร้านค้าได้ปรับตัวมาค้าขายออนไลน์มากขึ้น โดยเมื่อสรรพากรได้รับข้อมูลจากแพลตฟอร์มแล้ว จะสามารถคำนวณได้ว่าใครมียอดขายเท่าไร และนำไปใช้ประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ของสรรพากร เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือการยื่นภาษีเงินได้รอบปี 67 ว่ายื่นเสียภาษีถูกต้องหรือไม่” – นายปิ่นสาย กล่าว

สรรพากรเชื่อมข้อมูลกับ แพลต์ฟอร์มออนไลน์
ภาพจาก รัฐบาลไทย

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามการออกประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง การกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นมา ให้กับกรมสรรพากร ซึ่งแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนในไทย และมีหรือเคยมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องทำบัญชีพิเศษ หรือบัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่ขายสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์ม โดยต้องนำส่งไปให้กรมสรรพากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี หรือภายในเดือน พ.ค. 68

รายได้เท่านี้จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่บ้าง

สำหรับการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปีน้อยกว่า 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ถ้าหากรวมแล้วได้รายได้เกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีอัตราตามขั้นบันได 5-35% อัตราภาษีจะแบ่งตามช่วงรายได้ดังนี้

  • รายได้ตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท เสียภาษี 5%
  • รายได้ตั้งแต่ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10%
  • รายได้ตั้งแต่ 500,001-750,000 บาท เสียภาษี 15%
  • รายได้ตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20%
  • รายได้ตั้งแต่ 1,000,001-2,000,000 บาท เสียภาษี 25%
  • รายได้ตั้งแต่ 2,000,001-5,000,000 บาท เสียภาษี 30%
  • รายได้ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษี 35%

ใครลดหย่อนภาษีได้บ้าง

ผู้มีเกณฑ์เสียภาษีเงินได้ทุกคนมีสิทธิลดหย่อนภาษี โดยระหว่างยื่นแบบต้องระบุค่าลดหย่อนลงไปด้วย ชี้แจงรายการใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้ที่มีเงินได้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเพิ่มเติมได้ ยิ่งมีค่าลดหย่อนมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้คุณจ่ายภาษีน้อยลง เนื่องจากเหลือเงินได้สุทธิที่ลดลง

ส่วนวิธีการคำนวณภาษีขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปีเกิน 150,000 บาทต่อปี มีวิธีการคำนวณง่าย ๆ ผ่าน 2 สูตรคำนวณภาษีขั้นพื้นฐาน ดังนี้

  • สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ รายได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
  • สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx