
TIKTOK สหรัฐอเมริกา ปลดพนักงาน อีกลอตใหญ่ เซ่นพิษภาษี-ปรับโครงสร้าง จับตาหลังยอดขายวูบ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน TikTok ได้เลิกจ้างพนักงานบางส่วนของ TikTok Shop ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) การลดพนักงานครั้งนี้กระทบทีมปฏิบัติการในสหรัฐฯ และทีมดูแลลูกค้ารายใหญ่ระดับโลก
นายมู่ ชิง หัวหน้า TikTok Shop สหรัฐฯ ได้แจ้งพนักงานผ่านอีเมลให้ทำงานจากที่บ้าน พร้อมระบุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรในทีมที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเริ่มมีผลทันที ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก
สำหรับทีมดูแลลูกค้ารายใหญ่จะทำงานใกล้ชิดกับแบรนด์ใหญ่ ส่วนทีมปฏิบัติการสนับสนุนร้านค้า พันธมิตร และครีเอเตอร์ นายมู่ ชิง แจ้งว่าการเลิกจ้างครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างรูปแบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการเติบโตในระยะยาวของทีม”
สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า พนักงานเริ่มได้รับอีเมลแจ้งผลกระทบในช่วงเช้าวันพุธ แต่ยังไม่ทราบจำนวนผู้ถูกเลิกจ้างที่แน่ชัด ทาง TikTok ตั้งใจจะแจ้งผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว TikTok Shop ก็มีการเลิกจ้างพนักงานในสหรัฐฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ระหว่างการปรับโครงสร้างทีมกำกับดูแลและประสบการณ์
TikTok Shop เปิดตัวอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายน 2566 เป็นช่องทางซื้อขายสินค้าบนแอป TikTok ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าจากผู้ขายภายนอกได้โดยตรง ในปี 2567 TikTok Shop มีนักช้อปชาวอเมริกันกว่า 47 ล้านคน สร้างยอดใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 32 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจาก Capital One)
อย่างไรก็ตาม พนักงาน TikTok Shop สี่รายเปิดเผยกับ Business Insider ว่ายอดขายในปีนี้ลดลงจากผลกระทบของภาษีศุลกากร ภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเคยพุ่งสูงถึง 145% ในช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อมาสหรัฐฯ ได้ลดภาษีลงชั่วคราวเหลือ 30% ในต้นเดือนพฤษภาคม ขณะที่จีนก็ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลงเหลือ 10% ผลกระทบจากภาษีดังกล่าวทำให้ยอดขายรายวันของ TikTok Shop จากผู้ขายต่างชาติในสหรัฐฯ ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ลดลงเกือบ 25% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ปัจจุบัน TikTok มีพนักงานในสหรัฐฯ ประมาณ 7,000 คน โดยกว่า 1,000 คนประจำอยู่ที่สำนักงานใกล้เมืองซีแอตเทิล นอกจากนี้ยังมีสำนักงานในนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และเท็กซัส
ขณะนี้ TikTok มีเวลาจนถึงวันที่ 19 มิถุนายน ในการหาเจ้าของใหม่ในสหรัฐฯ และต้องแยกตัวออกจาก ByteDance บริษัทแม่ในจีน มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการถูกแบนในสหรัฐฯ ตามกฎหมายที่สภาคองเกรสผ่านเมื่อเดือนเมษายน 2567 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยขยายกำหนดเวลาดังกล่าวมาแล้วสองครั้ง และอาจพิจารณาขยายเวลาเพิ่มเติมหากยังไม่มีผู้ซื้อ โดยนายทรัมป์เคยกล่าวว่าเขามี “ความรู้สึกดีๆ” กับ TikTok
จนถึงขณะนี้ มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอซื้อ TikTok หลายราย รวมถึง แลร์รี เอลลิสัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Oracle, Perplexity สตาร์ทอัปด้าน AI, AppLovin, Amazon และ แฟรงก์ แม็กคอร์ท จูเนียร์ อดีตเจ้าของทีมเบสบอล LA Dodgers ซึ่งร่วมมือกับ เควิน โอเลียรี นักลงทุนจาก Shark Tank และ อเล็กซิส โอฮาเนียน ผู้ร่วมก่อตั้ง Reddit ในนาม “The People’s Bid for TikTok”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Burberry จ่อปลดพนักงาน 1700 คน เซ่นพิษขาดทุน รื้อกลยุทธ์สู้ กอบกู้แบรนด์
- ไมโครซอฟท์ ปลดพนักงานอีก 6,000 ตำแหน่งทั่วโลก หวังหั่นค่าใช้จ่าย-ทุ่มลงทุน AI
- บริษัทใหญ่ Intel จ่อปลดพนักงานอีกกว่า 2 หมื่นคน ตามแผนฟื้นฟู CEO คนใหม่
ติดตาม The Thaiger บน Google News: