สุขภาพและการแพทย์

อดอาหาร 36 ชั่วโมง เผยผลลัพธ์สุดทึ่ง ร่างกายเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

คลิปจำลองเผย ผลลัพธ์สุดทึ่ง ร่างกายเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่ออดอาหาร 36 ชั่วโมง สลายไขมัน ดึงมาใช้เป็นพลังงาน ซ่อมแซมร่างกาย กล้ามเนื้อ

ไวรัลต่างประเทศ คลิปวิดีโอจำลองผลกระทบหลังจากอดอาหารเป็นเวลานาน หรือที่เรียกว่าฟาสติ้ง ไม่ว่าจะอดอาหารด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เช่น ปฏิบัติตามหลักศาสนา ลดน้ำหนัก หรือแม้แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง บางคนอาจมองว่าการงดอาหารเป็นเวลานานเป็นเรื่องยาก แต่หลายคนก็เชื่อมั่นในวิธีนี้ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นวิถีชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญจาก Medical News Today ระบุว่า การอดอาหารอย่างปลอดภัยสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มความไวของอินซูลินได้ แต่การอดอาหารไม่ใช่เรื่องที่เหมาะกับทุกคน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่ม

ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่ออดอาหาร 36 ชั่วโมง?

ล่าสุด ช่องยูทูบยอดนิยมช่องหนึ่งได้เผยแพร่รายละเอียดสิ่งจะที่เกิดขึ้นกับร่างกายระหว่างการอดอาหารนาน 1 วันครึ่ง ตามลำดับเวลาดังนี้

  • 4 ชั่วโมง ร่างกายหยุดย่อยอาหาร ดร.คิลท์ซ (Doctor Kiltz) ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าช่วงนี้เรียกว่า “ระยะแคตาบอลิซึม” เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มสลายโมเลกุลพลังงานที่เก็บไว้เป็นโมเลกุลเล็กๆ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้เซลล์

  • 8 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มลดลง ร่างกายเริ่มใช้ไกลโคเจนที่เก็บไว้เป็นพลังงาน แทนการใช้พลังงานใหม่จากอาหาร

  • 12 ชั่วโมง กลูโคสในร่างกายหมดลง ตับจึงเริ่มสลายไขมันเป็นกรดไขมันที่เรียกว่าคีโตน กระบวนการเปลี่ยนคีโตนเป็นอาหารนี้เรียกว่า “การสลับใช้พลังงาน” (metabolic switching) เป็นเหตุผลที่การอดอาหารช่วยลดน้ำหนักได้

  • 16 ชั่วโมง กระบวนการในระดับเซลล์ที่เรียกว่า “ออโตฟาจี” (autophagy) เริ่มต้นขึ้น เซลล์จะเริ่มกำจัดส่วนที่เสียหาย นำส่วนที่ยังใช้ได้กลับมาสร้างเป็นเซลล์ใหม่ ดร.คิลท์ซ เสริมว่าการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นออโตฟาจี หากกระบวนการนี้ถูกรบกวน อาจนำไปสู่ปัญหาเซลล์เติบโตผิดปกติได้

  • 24 ชั่วโมง ร่างกายเข้าสู่การซ่อมแซมเซลล์ครั้งใหญ่ ร่างกายจะอยู่ในโหมดเผาผลาญไขมันเต็มที่ ลดการอักเสบ และเพิ่มความไวของอินซูลิน

  • 30 ชั่วโมง ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) เพิ่มสูงขึ้น ช่วยรักษากล้ามเนื้อ ส่งเสริมการสูญเสียไขมัน คลิปยังระบุว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ “การเยียวยาล้ำลึก” เริ่มต้น

  • 36 ชั่วโมง ร่างกายเข้าสู่ภาวะออโตฟาจีสูงสุด มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ กระตุ้นการเผาผลาญ ถือเป็นการรีเซ็ตร่างกายทั้งหมด สามารถขยายเวลาอดอาหารไปถึง 72 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นได้

ผู้เชี่ยวชาญเตือน อดอาหารใช่จะดี แฝงด้วยโรคอื่นๆ 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องการอดอาหาร บางส่วนชี้ว่ายังขาดการศึกษาที่ชัดเจนในมนุษย์ ทำให้สรุปผลได้ยาก

เจมส์ เบตส์ ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาการเผาผลาญ มหาวิทยาลัยบาธ กล่าวว่า “มีประโยชน์มากมายที่ถูกเสนอเกี่ยวกับการใช้ไขมันเป็นพลังงาน แต่การวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏผลชัดเจนในมนุษย์ เราจึงยังไม่เห็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจนในระยะสั้น”

ขณะเดียวกัน งานวิจัยบางชิ้นพบว่า ผู้ที่อดอาหารนานกว่า 16-18 ชั่วโมงต่อวันเป็นประจำ มีความเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีสูงขึ้น

ผลข้างเคียงอื่นๆ ของการอดอาหารอาจรวมถึงความหิวอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความอยากอาหาร ปัญหาทางเดินอาหาร อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี

ด้านมาร์ก แมตต์สัน นักประสาทวิทยาจากจอห์น ฮอปกินส์ แย้งว่าการอดอาหารมีประโยชน์มากมาย “หลายอย่างเกิดขึ้นระหว่างการอดอาหารเป็นช่วงๆ ซึ่งสามารถปกป้องอวัยวะจากโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ ความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกี่ยวกับวัย หรือแม้แต่โรคลำไส้อักเสบและมะเร็งหลายชนิด”

ขณะที่ความเห็นอีกด้าน เพจ หมอหล่อคอเล่า ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่องการฟาสติ้ง 36 ชั่วโมงไว้ว่า งานวิจัยชี้ว่าวิธีนี้ช่วยลดไขมันสะสม น้ำหนักลดลง และปรับปรุงค่าเลือดที่เกี่ยวกับความเสี่ยงโรคหัวใจให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือ สามารถทำได้นานกว่า 6 เดือนในคนที่สุขภาพดีและไม่เป็นโรคอ้วน ไม่พบผลเสียร้ายแรง อ้างข้อมูลนี้มาจากวารสารการแพทย์ชั้นนำ “Cell Metabolism” ซึ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2019

เปิดงานวิจัย ชี้ข้อดีอดอาหาร 36 ชั่วโมง

งานวิจัยชิ้นสำคัญนี้มีชื่อว่า “การทำ Alternate Day Fasting (ADF) ส่งผลดีต่อสุขภาพและระบบการทำงานของร่างกายและผลดีทั้งในระดับโมเลกุล ในผู้ที่มีสุขภาพดีและไม่มีโรคอ้วน” ทำการศึกษาโดย ดร. สลาเวน สเตโควิช และทีมจากมหาวิทยาลัยกราซ ประเทศออสเตรีย โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่างสุขภาพดี ไม่อ้วน จำนวน 60 คน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และยังศึกษาผลในกลุ่มที่ทำ ADF มาแล้วนานกว่า 6 เดือน รูปแบบการอดคือ “Strict ADF” ซึ่งหมายถึงการงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานทุกชนิด (ดื่มได้เพียงน้ำเปล่า กาแฟดำ ชาไม่ใส่น้ำตาล) เป็นเวลา 36 ชั่วโมง สลับกับวันที่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติภายใน 12 ชั่วโมง

ผลการวิจัยพบว่าการทำ Strict ADF เพียง 4 สัปดาห์ ช่วยให้น้ำหนักลดลงประมาณ 4.5% ไขมันในช่องท้องลดลงถึง 14.5%  ลดไขมันบริเวณหน้าท้องได้ดี ทั้งยังช่วยลดการบริโภคแคลอรี่โดยรวมได้ประมาณ 37.4% นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยลดค่าการอักเสบ (sICAM-1) คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL, VLDL) ไตรกลีเซอไรด์ และความดันโลหิตตัวบน ส่วนในกลุ่มที่ทำ ADF มานานกว่า 6 เดือน พบผลดีด้านการชะลอวัย เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และกรดอะมิโนเมไธโอนีน (ตัวเร่งแก่) ลดลง และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs) เพิ่มขึ้น แสดงถึงการใช้ไขมันเป็นพลังงานที่ดีขึ้น

ทำฟาสติ้ง เสียมวลกล้ามเนื้อไหม

ในช่วงการอดอาหาร 36 ชั่วโมง จะมีบางช่วงที่อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อได้ แต่ก็มีกลไกบางอย่างที่ร่างกายพยายามรักษากล้ามเนื้อไว้เช่นกัน

ในช่วงแรก หลัง 8-12 ชั่วโมง เมื่อร่างกายใช้กลูโคสกับไกลโคเจนที่สะสมไว้จนเริ่มหมด ร่างกายอาจเริ่มสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อ เพื่อนำกรดอะมิโนไปสร้างเป็นกลูโคสเพื่อใช้เป็นพลังงานได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าเป้าหมายหลักของร่างกายคือการสลายไขมันก็ตาม

ยิ่งหากออกกำลังกายหนัก หรือยกเวทในช่วงอดอาหารเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสลายกล้ามเนื้อได้

อย่างไรก็ดี ในช่วงประมาณชั่วโมงที่ 30 ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยในการรักษามวลกล้ามเนื้อ ส่งเสริมการใช้ไขมันเป็นพลังงาน และเมื่อเข้าสู่ภาวะคีโตซิส ร่างกายจะใช้คีโตนจากไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลัก ซึ่งอาจช่วยลดการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน

เมื่ถึงประมาณ 16-36 ชั่วโมง ร่างกายจะเน้นการกำจัดเซลล์ที่เสียหายหรือส่วนประกอบที่ผิดปกติ มากกว่าจะสลายเซลล์กล้ามเนื้อที่แข็งแรงโดยตรง เว้นแต่ในกรณีที่ร่างกายขาดพลังงานอย่างรุนแรงและยาวนานมากจริงๆ

ดังนั้น สำหรับคนเล่นกล้าม นักเพาะกาย แนะนำให้ทำเป็นฟาสติ้งสูตรสั้นๆ แบบ 18/8 หรือ 20/4 แทน และกินโปรตีนให้ถึงในช่วงกินอาหาร ลดความหนักของการออกำลังกายลง แต่หากอยู่ในช่วงสร้างกล้ามเนื้อ อดอาหารนานๆ อาจไม่ส่งผลดีเท่าที่ควร

ภาพจาก IG : deawsuriyont

ดังนั้น ก่อนทำฟาสติ้ง ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า แต่ละคนมีการตอบสนองต่อการอดอาหารแตกต่างกัน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจเริ่มทำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx