อ.เจษฎา เตือนซ้ำ! ส้มตำถาด สังกะสีสีสวย เสี่ยงรับสารพิษ-โลหะหนักเข้าร่าง

อ.เจษฎา ย้ำ เตือนภัย “ส้มตำถาด” และอาหารรสเปรี้ยว-ร้อน เสิร์ฟบนถาดสังกะสีเคลือบสีโดยตรง เสี่ยงรับสารพิษ-โลหะหนัก แนะวิธีใช้ปลอดภัยด้วยใบตองหรือพลาสติก Food Grade รอง
ภัยเงียบจานฮิต ส้มตำถาด บนถาดสังกะสีสีสวย อาจแฝงสารพิษถึงตัว รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊ก (12 พ.ค. 68) ย้ำคำเตือนที่เคยให้ไว้ ชี้ชัด การวางอาหาร โดยเฉพาะส้มตำที่มีรสเปรี้ยว หรืออาหารร้อน ๆ ลงบนถาดสังกะสีเคลือบสีโดยตรง มีความเสี่ยงสูงที่สี สารเคมี โลหะหนัก และสารตะกั่วจากถาด จะหลุดลอกปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ท่านถึงกับระบุด้วยความข้องใจว่า ‘เตือนมานานแล้วครับ ว่าไม่ควรทำ…ไม่นึกว่ายังทำกันอยู่อีกนะ’

โพสต์ของอาจารย์เจษฎา เป็นการแชร์เนื้อหาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Makut Onrudee ซึ่งให้ข้อมูลเสริมว่า เดิมทีถาดประเภทนี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้เป็นภาชนะรองรับภาชนะอื่น ๆ เช่น วางถ้วยชามเพื่อความสะดวกในการยกเสิร์ฟ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้สัมผัสกับอาหารโดยตรง แต่ปัจจุบันกลับพบเห็นการนำถาดสังกะสีพ่นสีฉูดฉาดเหล่านี้มาใช้แทนจานชามอย่างแพร่หลาย ทั้งในร้านอาหารและตามบ้านเรือน ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ถึงผลเสียที่อาจตามมา
ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารจากถาดดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีการสะสมของสารพิษในร่างกาย และอาจแสดงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เจษฎาได้ให้คำแนะนำสำหรับกรณีที่ยังต้องการใช้ถาดสังกะสีเพื่อความสวยงามในการจัดเสิร์ฟว่า สามารถทำได้โดยเพิ่มความระมัดระวังและมีวิธีการป้องกัน
นั่นคือการนำวัสดุอื่นมารองบนถาดก่อนวางอาหาร เช่น ใบตองที่ทำความสะอาดอย่างดีแล้ว หรือแผ่นพลาสติกสำหรับรองอาหาร แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นชนิดที่สามารถทนความร้อนและทนต่อกรดได้ (food grade) เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอีกชั้นหนึ่ง
คำเตือนจากนักวิชาการครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนให้ผู้บริโภคใส่ใจในความปลอดภัยของภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร ไม่เพียงแต่ความสวยงามภายนอก แต่ต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ผลิตและความเหมาะสมในการใช้งาน เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว การเลือกใช้ภาชนะที่ผลิตมาเพื่อบรรจุอาหารโดยเฉพาะจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเจด เตือน กลุ่มที่ไม่ควรกินทุเรียน บริโภคเยอะระวังสุขภาพพัง
- แพทย์แนะนำ ควรทานผลไม้ 7 ชนิดนี้ ช่วยให้ “ปอดสะอาด” แถมป้องกันโรคร้าย
- เครื่องดื่มยอดฮิต กินทุกวัน เสี่ยงไขมันพอกตับ ไม่รู้ตัว หมอชี้ น้ำตาลแฝงสูง
อ้างอิง: Jessada Denduangboripant
ติดตาม The Thaiger บน Google News: