ย้อนตำนาน ชั้น 14 ทักษิณ 181 วัน รพ.ตำรวจ ไม่นอนคุกแม้แต่คืนเดียว เกิดอะไรขึ้น

ย้อนรอยชั้น 14 ทักษิณ ชินวัตร จากเรือนจำสู่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน เหตุผลในการย้ายตัว นายทักษิณ ออกรักษานอกคุก
ภายหลังเดินทางกลับประเทศไทย เข้าสู่กระบวนการรับโทษตามกฎหมายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำทันที จากผลตัดสินคุกรวม 8 ปี จาก 3 คดี ได้แก่ คดีสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้, คดีหวยบนดิน และคดีแก้ไขสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น
ทว่าในคืนแรกของการคุมขัง อาการป่วยของนายทักษิณทรุดลงอย่างกะทันหันกลางดึก มีรายงานว่าเขามีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ทั้งมี มี 4 โรคประจำตัว ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะเกี่ยวกับปอด ความดันโลหิตสูง และภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ
แพทย์ประจำทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ประเมินแล้วพบว่า ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลอาการดังกล่าว หากปล่อยไว้ อาจเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงตัดสินใจส่งตัวนายทักษิณไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ของคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2566
กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงถึงการดำเนินการดังกล่าวว่า การส่งผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำ ณ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่มีมาตั้งแต่ปี 2563 อ้างให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลตำรวจมีศักยภาพทางการแพทย์สูงและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่สามารถรองรับผู้ต้องขังได้
อาการป่วยระหว่างพักรักษาตัวบนชั้น 14
อาการป่วยของนายทักษิณที่ถูกระบุสในสื่อนั้น เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทีมแพทย์ให้ข้อมูลว่าในคืนที่ย้ายตัว นายทักษิณมีอาการแน่นหน้าอกรุนแรง ความดันโลหิตสูงผิดปกติ มีระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ต่ำกว่า 95%) ซึ่งเข้าข่ายภาวะวิกฤตเกี่ยวกับหัวใจและระบบหายใจ แพทย์กังวลว่าอาจเป็นสัญญาณของอาการหัวใจกำเริบ จึงจำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาลที่มีห้องฉุกเฉินและอุปกรณ์พร้อมโดยเร็วที่สุด
โรคประจำตัวหรืออาการที่ถูกกล่าวถึงในภายหลัง เช่น ปอดอักเสบเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจ โรคหมอนรองกระดูก (บางรายงานระบุเจาะจงว่าเป็นกระดูกคอเสื่อม) เอ็นไหล่ขาด
เมื่อเดินทางถึงโรงพยาบาลตำรวจ นายทักษิณถูกจัดให้พักรักษาตัวใน ห้องพักพิเศษบนชั้น 14 ของอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ในช่วงแรกมีการชี้แจงว่าเป็นชั้นเดียวที่มีห้องว่างสำหรับรองรับผู้ป่วยในภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตาม นายทักษิณได้พักรักษาตัวในห้องพิเศษนี้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล ไม่ได้มีการย้ายไปพักในหอผู้ป่วยสามัญ หรือกลับไปคุมขังที่เรือนจำเลยแม้แต่คืนเดียว
แพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายทักษิณมีอาการป่วยแบบ “วิกฤตสลับปกติ” คือมีบางช่วงที่อาการทรุด และบางช่วงที่อาการทรงตัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากอาการวิกฤตจริง ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้อง ICU หรือห้องฉุกเฉินที่มีบุคลากรพร้อม ต่างจากกรณีนี้ที่ได้พักในห้องพิเศษส่วนตัว
ไทม์ไลน์ 180 วัน ในโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนได้รับการพักโทษ
นายทักษิณเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจบนชั้น 14 เป็นเวลารวมประมาณ 180 วัน หรือเกือบ 6 เดือนเต็ม โดยไม่ได้กลับไปคุมขังที่เรือนจำเลยในช่วงดังกล่าว เริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ที่ย้ายตัวเข้ารับการรักษา จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 วันที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ
ตลอดช่วงเวลาที่พักรักษาตัวบนชั้น 14 มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรึงกำลังดูแลตลอด 24 ชั่วโมง สมาชิกในครอบครัว ได้เดินทางเข้าเยี่ยมอย่างใกล้ชิดเกือบทุกวัน ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังป่วยสามารถทำได้
ข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่านายทักษิณพักรักษาที่ห้องพิเศษโรงพยาบาลตำรวจนานถึง 181 วัน ก่อนจะออกจากโรงพยาบาลเมื่อได้รับการพักโทษ ไม่มีช่วงใดที่ถูกส่งตัวกลับไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เลย
ทักษิณได้รับการพักการลงโทษกรณีพิเศษ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 รถตู้สีดำทะเบียน “ภษ 1414” ได้นำตัวนายทักษิณออกจากโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเดินทางกลับไปยังบ้านพักจันทร์ส่องหล้า
ประเด็นสำคัญ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ในวันที่ 1 กันยายน 2566 มี ประกาศพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจำคุกของนายทักษิณจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี ซึ่งมีผลให้โทษจำคุกสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 โดยเหตุผลตามราชกิจจานุเบกษาระบุว่าอดีตนายกรัฐมนตรีได้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ
แม้โทษจะถูกลดเหลือ 1 ปี นายทักษิณก็ยังคงรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำ
กรณีการพักรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานผิดปกติของนายทักษิณได้กลายเป็น ถกเถียงอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและในคณะกรรมาธิการหลายครั้ง ถึงความเท่าเทียมในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังป่วย
เบื้องหลังการปล่อยตัว พักการลงโทษ กรณีพิเศษ
การที่นายทักษิณสามารถออกจากโรงพยาบาลตำรวจ กลับไปพักที่บ้านได้นั้น เกิดขึ้นตามขั้นตอนทางกฎหมายที่เรียกว่า “การพักการลงโทษ” ด้วยเหตุพิเศษ คือการปล่อยตัวผู้ต้องขังให้กลับไปอยู่ในความดูแลของครอบครัวชั่วคราว ภายใต้เงื่อนไขบางประการ โดยผู้ต้องขังยังถือว่าอยู่ระหว่างการรับโทษอยู่ ยังไม่พ้นโทษสมบูรณ์
กระบวนการนี้เป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะขอพักโทษไว้ เช่น ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีหรือชั้นกลาง, มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หรือเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ, และต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของโทษ (เลือกอย่างใดที่มากกว่า)
สำหรับกรณีของนายทักษิณ ซึ่งมีอายุ 74 ปี เข้าเกณฑ์เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ และเมื่อถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก็รับโทษมาครบ 6 เดือนพอดี ทำให้ มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ที่จะได้รับการพักการลงโทษกรณีพิเศษนี้ กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าการพิจารณาพักโทษเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการยกเว้นให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะบุคคล
ขั้นตอนการดำเนินการเริ่มต้นจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตรวจสอบคุณสมบัติ แล้วเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณาพักโทษระดับเรือนจำ ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์กลั่นกรองและอนุมัติเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อผ่านครบทุกขั้นตอน นายทักษิณจึงได้รับอนุญาตให้พักโทษ
ทักษิณต้อง ติดกำไล EM (Electronic Monitoring) ที่ข้อเท้า ตามมาตรฐานของผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวโดยรถตู้ตำรวจไปส่งยังบ้านพักจันทร์ส่องหล้า ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น “สถานที่ควบคุมตัวแทนเรือนจำ” ในช่วงพักโทษนี้
สถานะทางกฎหมาย ของนายทักษิณในระหว่างพักโทษ คือ ยังคงถือว่าเป็นนักโทษเด็ดขาดที่อยู่ระหว่างรับโทษ จนกว่าจะครบกำหนดพ้นโทษจริงตามพระราชทานอภัยโทษในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ดังนั้น การเดินทางออกนอกประเทศหรือการกระทำใดๆ ที่อาจขัดเงื่อนไขการควบคุม ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้ห้ามผู้ต้องขังที่พักโทษไม่ให้พบปะหรือสื่อสารในเรื่องการเมือง หมายความว่า ถึงแม้จะอยู่ระหว่างพักโทษ แต่นายทักษิณก็ ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างถาวร เพียงแต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการดูแลความประพฤติจากกรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์อย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
ประเด็นวิจารณ์จากสังคม สิทธิพิเศษหรือความไม่เท่าเทียม?
กรณีการพักรักษาตัวของนายทักษิณในโรงพยาบาลตำรวจ ได้รับ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากสังคมและสื่ออย่างกว้างขวาง หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็น การใช้สิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่นหรือไม่ มองว่านายทักษิณได้รับการดูแลที่ดู “ดีกว่า” และนานกว่าเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ในคดีทั่วไป
ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ได้ สอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในประเด็นนี้ว่า กรณีนายทักษิณ รักษานอกเรือนจำ เป็นการปฏิบัติที่เท่าเทียม-เสมอภาคกับนักโทษคนอื่นหรือไม่ โดยยกตัวอย่างนักกิจกรรมอย่างนายเอกชัย หงส์กังวาน ที่เคยป่วยในคุกแต่ไม่ได้ออกมานอนโรงพยาบาลภายนอกเท่านี้ มาเปรียบเทียบ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ ชี้แจงต่อสภา ว่า กฎหมายและระเบียบของกรมราชทัณฑ์ใช้บังคับกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ยืนยันว่า นายทักษิณป่วยจริง ไม่ได้แกล้งป่วย หรือได้รับห้องพักระดับวีไอพีตามที่สังคมเข้าใจ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจไม่ใช่ห้องพิเศษวีไอพีแต่อย่างใด
ทว่า คำชี้แจงดังกล่าวยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดอาการป่วยที่ชัดเจน และเหตุผลที่ต้องพักในห้องพิเศษชั้น 14 ได้ทั้งหมด ทำให้ทั้ง ส.ส. และคณะกรรมาธิการที่ติดตามเรื่องนี้ยังคงมีข้อข้องใจ
หน่วยงานอิสระอย่าง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้เข้ามาตรวจสอบประเด็นนี้เช่นกัน หลังได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ว่านายทักษิณอาจได้รับสิทธิดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น อันเป็นการเลือกปฏิบัติ
ต่อมาในการแถลงผลสอบเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 กสม. ได้ วินิจฉัยอย่างชัดเจนว่า กรณีนี้ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์เกินกว่าสิทธิที่ควรจะได้รับ ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคและถือเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ตั้งข้อสังเกตว่า นายทักษิณพักรักษาในห้องพิเศษเป็นเวลานานถึง 181 วัน ซึ่งถือว่าผิดปกติเมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั่วไปที่ป่วยในระดับใกล้เคียงกัน; หากอาการวิกฤตจริง ควรอยู่ในห้อง ICU ไม่ใช่ห้องพิเศษส่วนตัว
กระบวนการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ แม้ทำได้ตามกฎหมาย แต่มี “ช่องว่าง” ที่ทำให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล กล่าวคือ เมื่อเรือนจำส่งตัวไปแล้ว ไม่มีข้อกำหนดให้ต้องรายงานว่าผู้ต้องขังพักรักษาอยู่ห้องใด และนานแค่ไหน ทำให้กรณีของนายทักษิณกลายเป็นช่องโหว่ที่เจ้าหน้าที่อาจใช้ดุลยพินิจเอื้อประโยชน์เป็นพิเศษ กสม. จึงได้ส่งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) พิจารณาสอบสวนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะเดียวกัน แพทยสภา ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพแพทย์ ก็ถูกร้องเรียนให้ ตรวจสอบจริยธรรมของแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและดูแลรักษานายทักษิณ มีคำถามว่าแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์วินิจฉัยอาการวิกฤตถูกต้องจริงหรือไม่ หรือแพทย์โรงพยาบาลตำรวจให้การรับรองอาการเกินความจำเป็น
เมื่อปลายปี 2567 แพทยสภาได้มีมติว่าเรื่องร้องเรียน “มีมูล” ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนจริยธรรมเป็นการเฉพาะกิจเพื่อหาข้อเท็จจริง มีรายงานว่าแพทยสภาได้ทำหนังสือ ขอข้อมูลเวชระเบียนและรายละเอียดการรักษาเพิ่มเติม จากนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับก่อนหน้านี้ยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ กลุ่มภาคประชาชนบางส่วน เช่น เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ก็ได้รวมตัวกดดัน เคยมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วงต้นปี 2568 เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนายทักษิณอย่างโปร่งใส และให้ความร่วมมือกับแพทยสภาในการตรวจสอบจริยธรรมของแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง
ทักษิณกลับมาไทยได้อย่างไร อ้างต้องการกลับมาเลี้ยงล้าน เลิกยุ่งการเมือง
การกลับมาของนายทักษิณ ในรอบ 17 ปี เกิดขึ้นพร้อมๆ กับช่วงเวลาสำคัญของ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็น แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาว ขึ้นนำรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ แทนที่พรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
หลายฝ่าย วิเคราะห์ว่าการกลับประเทศของนายทักษิณ มีความเชื่อมโยงทางการเมือง กับการที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่เคยเป็นคู่ขัดแย้ง (เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติและภูมิใจไทย) มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยอาจได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล แลกกับการที่นายทักษิณได้รับความสะดวกในเรื่องคดีความหลังเดินทางกลับมา
แม้ไม่มีหลักฐานที่เป็นทางการ แต่ จังหวะเวลาทางการเมืองที่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดกระแส วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมี “ดีลลับ” เกิดขึ้นเบื้องหลัง ซึ่งเห็นได้จากความรวดเร็วในการลดโทษ การที่ได้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน อีกทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังได้ถูกส่งต่อให้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของนายทักษิณ ในเดือนตุลาคม 2566
หลังจากได้รับการพักโทษ เดินทางกลับบ้าน นายทักษิณยังคงเป็น บุคคลที่สังคมจับตา เกี่ยวกับบารมีการเมืองที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
ตามกฎหมายแล้ว ทักษิณยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งหรือสิทธิ์ทางการเมืองใดๆ ทำให้สามารถให้คำปรึกษาหรือสื่อสารกับแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลได้ตามปกติ
นายทักษิณยังคงมี คดีค้างเก่าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ คดีอาญามาตรา 112 ซึ่งอัยการยังคงสอบสวนเพิ่มเติมและยังไม่ได้สรุปสำนวนตั้งแต่ก่อนเขากลับไทย กรณีนี้ทำให้นายทักษิณต้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดี และถูกศาลสั่ง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาต
ดังจะเห็นได้จากในเดือนกรกฎาคม 2567 ทีมทนายความของทักษิณ เคยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขออนุญาตเดินทางไปพบแพทย์ที่นครดูไบ แต่ ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยพิจารณาว่าอาการป่วยที่อ้าง (เช่น ปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเกี่ยวกับกระดูก) สามารถรักษาได้ในประเทศ และการเดินทางไปพบ “บุคคลสำคัญ” ที่ระบุเป็นเหตุผลนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ประกอบกับช่วงเวลาที่ขอเดินทางตรงกับนัดหมายตรวจพยานหลักฐานในคดีพอดี ศาลจึงไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้นายทักษิณจะกลับบ้านแล้ว แต่ก็ยังต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหว เนื่องจาก กระบวนการยุติธรรมและการเมืองยังคงมีความเชื่อมโยง กับตัวเขาอย่างใกล้ชิด
แพทยสภา ลงโทษ 3 แพทย์ ปมชั้น 14 ทักษิณ
ล่าสุด 8 พ.ค.2568 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา มีมติลงโทษแพทย์ 3 คน เป็นการว่ากล่าวตักเตือน 1 คน ในกรณีประกอบวิชาชีพและเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เกี่ยวกับการออกใบส่งตัว และพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 คน ในกรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
“ขณะนี้ข้อมูลที่ได้รับ พบว่าไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น ซึ่งการพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรงกับแพทย์ทุกท่านอยู่แล้ว ถือเป็นความผิดรุนแรง”
ทั้งนี้ มติของที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาในวันนี้ยัง ไม่ถือเป็นคำสั่งที่สิ้นสุด หรือสามารถดำเนินการได้ในทันที แพทยสภาจะต้องนำเสนอมติดังกล่าวต่อสภานายกพิเศษ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามมติดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ต่อไป ส่วนการพักใช้ใบอนุญาตนานเท่าใดนั้นยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งระยะเวลาพักใช้ฯ ต้องรอความเห็นชอบจาก รมว.สาธารณสุข
ติดตาม The Thaiger บน Google News: