
ข่าวดี พม. เปิดให้กู้เงินทุนประกอบอาชีพ ผู้พิการ-ผู้ดูแล ผ่านระบบ DepFund ดอกเบี้ย 0% ผ่อน 5 ปี รายบุคคลสูงสุด 1.2 แสน รายกลุ่ม 1 ล้าน ยื่นกู้ออนไลน์ได้เลย
รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลสำคัญนี้ โดยระบุว่า กองทุนฯ ได้พัฒนาระบบบริหารจัดการเงินกู้ยืมรูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ “DepFund” เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน สร้างโอกาสให้ผู้พิการหรือผู้ดูแล สามารถกู้ยืมเงินไปเป็นทุนประกอบอาชีพได้โดยไม่มีดอกเบี้ย
รายละเอียดการกู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกัน
ประเภทแรกคือ การกู้ยืมประเภทรายบุคคล เปิดโอกาสให้ผู้พิการหรือผู้ดูแลสามารถยื่นขอกู้ได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 60,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นและเหตุผลสมควร สามารถยื่นเรื่องเพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินสูงกว่าเกณฑ์ปกติได้เป็นรายกรณี แต่สูงสุดต้องไม่เกิน 120,000 บาท
ประเภทที่สองคือ การกู้ยืมประเภทรายกลุ่ม ซึ่งออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการรวมตัวประกอบอาชีพ สามารถยื่นขอกู้ได้ในวงเงินกลุ่มละไม่เกิน 1,000,000 บาท
ทั้งสองประเภทกำหนดระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายในเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี และที่สำคัญคือ ไม่มีการคิดดอกเบี้ย ใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับช่องทางการยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินนั้น นายอนุกูล รองโฆษกฯ กล่าวว่า ผู้พิการหรือผู้ดูแลที่ประสงค์จะกู้ยืมเงิน สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://efund.dep.go.th/ ซึ่งสามารถใช้ยื่นคำร้อง ตรวจสอบข้อมูล และติดตามสถานะการกู้ยืมได้ในระบบเดียว
นอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว ยังสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอรับความช่วยเหลือในการยื่นคำร้องได้ที่ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์บริการคนพิการจังหวัด รวมถึงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกแห่งทั่วประเทศ

เอกสารประกอบการขอกู้ยืมเงินกองทุนฯ
เพื่อให้การยื่นกู้เป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ที่สนใจควรเตรียมเอกสารประกอบให้ครบถ้วน ดังนี้
1. เอกสารส่วนของผู้ขอกู้
- บัตรประจำตัวคนพิการ
- บัตรประจำตัวประชาชน (ทั้งของคนพิการ และผู้ดูแล กรณียื่นกู้แทน)ฃ
- ทะเบียนบ้าน (ทั้งของคนพิการ และผู้ดูแล กรณียื่นกู้แทน)ฃ
- สัญญาเช่า หรือหนังสือรับรองการอยู่อาศัย (กรณียื่นกู้เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรือตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอ)
- รูปถ่ายแสดงสภาพความพิการ ขนาด 4×6 นิ้ว
- หนังสือรับรองการเป็นผู้ดูแลคนพิการ (กรณีผู้ดูแลไม่มีชื่อระบุในบัตรประจำตัวคนพิการ)
- แผนที่เดินทางไปยังที่อยู่อาศัยปัจจุบัน และสถานที่ประกอบอาชีพ (อย่างละ 1 แผ่น)
- หนังสือยินยอมของคู่สมรส (ถ้ามี)ฃ
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ขอกู้ (สำหรับรับเงินกู้)
2. เอกสารส่วนของผู้ค้ำประกัน
กรณีบุคคลธรรมดาค้ำประกัน (ต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ)
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- เอกสารแสดงรายได้ของผู้ค้ำประกัน (เช่น สลิปเงินเดือน, หนังสือรับรองเงินเดือน)
- แผนที่เดินทางไปยังที่อยู่อาศัยปัจจุบัน และสถานที่ประกอบอาชีพของผู้ค้ำประกัน (อย่างละ 1 แผ่น)
- หนังสือยินยอมของคู่สมรสผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)
กรณีองค์กรค้ำประกัน (เช่น องค์กรคนพิการ)
- ข้อบังคับขององค์กรคนพิการ
- งบดุล (บัญชีงบดุล) ประจำปีล่าสุด
- รายชื่อผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติบุคคล (กรณีองค์กรเป็นนิติบุคคล)
ขั้นตอนการกู้ยืมเงินการขอกู้ยืมเงินกองทุนฯ
- ลงทะเบียนยื่นคำร้อง ผ่านเว็บไซต์ efund.dep.go.th หรือติดต่อ พมจ./ศูนย์บริการคนพิการ
- ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อมูลที่ยื่นคำร้อง
- เสนอที่ประชุมพิจารณา นำเสนอข้อมูลคำขอกู้ต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติ
- แจ้งผลการพิจารณา กองทุนฯ แจ้งผลการอนุมัติหรือไม่ อนุมัติให้ผู้ขอกู้ทราบ
- นัดทำสัญญาและรับเงิน หากได้รับอนุมัติ จะมีการนัดหมายเพื่อทำสัญญากู้ยืม และโอนเงินเข้าบัญชีของผู้กู้ต่อไป
โครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยผ่านระบบ DepFund นี้ นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐในการส่งเสริมศักยภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ผู้พิการและผู้ดูแลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนรัดเข็มขัด เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมด ‘เอาตัวรอด’ กอดเงินสดให้ได้มากที่สุด
- รอเก้อ ‘เงินดิจิทัลเฟส 3’ ไม่เข้า ครม. นายกยังตอบไม่ได้ แจกได้ตอนไหน
- มีผลทันที กนง.เห็นชอบ ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% หวังยื้อเศรษฐกิจไทย
อ้างอิง: efund.dep
ติดตาม The Thaiger บน Google News: