
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวง ปรับกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ถูกเลิกจ้าง ขึ้นเป็นร้อยละ 60 นาน 180 วัน
วันนี้ (6 พ.ค.) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ซึ่งมีสาระสำคัญของร่างดังกล่าวคือ
ปรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างจากอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างๆ เป็นร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างฯ ทั้งนี้ ให้ได้รับครั้งละไม่เกิน 180 วันเช่นเดิม
นายคารม ระบุว่า ปัจจุบันลูกจ้างที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพราะถูกเลิกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ดังนั้นเพื่อบรรเทาภาระการดำรงชีพของผู้ประกันกันจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรปรับเพิ่มให้ผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราที่สูงขึ้นตามข้างต้น โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2567

“การปรับรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยประมาณการรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนดังกล่าว ประมาณ 1,035.40 ล้านบาทต่อปี (แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นตามร้อยละของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจ่ายเงินทดแทนคิดจากเงินเดือนหรือค่าจ้าง)
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ประกันภัย การปรับเพิ่มเงินทดแทนดังกล่าวจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มจากร้อยละ 0.53 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 0.62 ของค่าจ้าง ซึ่งยังคงน้อยกว่าเงินสมทบที่จัดเก็บ รวมถึงกองทุนประกันสังคมยังสามารถรองรับวิกฤติสถานการณ์ว่างงานสูงกว่าปกติ 4 เท่า เป็นระยะเวลามากกว่า 3 ปี 6 เดือน ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสถานะของกองทุนประกันสังคม” นายคารม กล่าวปิดท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กพช. เคาะ ตรึงค่าไฟไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ยาวถึงสิ้นปี จับตาราคาเชื้อเพลิง ตัวแปรสำคัญ
- นายกฯ อิ๊งค์ ตอบแล้ว ยกเลิกเงินดิจิทัล เฟส 3-4 เอางบไปตั้งรับภาษีทรัมป์ จริงไหม?
- อพท. หารือแผนสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” คาดใช้งบไม่เกินพันล้าน
ติดตาม The Thaiger บน Google News: