สุขภาพและการแพทย์

อุทาหรณ์คนติดจอ หมอสมอง ยกเคสปวดหัวเรื้อรัง สาเหตุไม่ใช่สมอง แต่เป็น “คอ”

เตือนภัยคนติดจอ หมอสุรัตน์ เปิดภาพเอ็กซเรย ชายวัย 58 ปี ชี้ปวดหัวเรื้อรังอาจไม่ใช่โรคสมอง แต่เกิดจาก ‘คอเสื่อม’ เพราะพฤติกรรมคอยื่น แนะปรับ-จัดโต๊ะทำงาน

เตือนใจชาวออฟฟิศและคนยุคดิจิทัลที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอได้มากเลยทีเดียว เมื่อ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท ได้โพสต์เล่าเคสผู้ป่วย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ ชี้ให้เห็นถึงภัยเงียบของอาการปวดศีรษะที่ไม่ได้มีสาเหตุจากสมองโดยตรง

อ.หมอสุรัตน์ เล่าถึงเคสคนไข้ชายวัย 58 ปี ที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการ ปวดศีรษะเรื้อรังนานถึง 6 เดือน มีอาการชาที่ศีรษะร่วมด้วย และยิ่งนอนยิ่งปวดมากขึ้น คนไข้ไปตรวจรักษามาหลายที่ ทั้งเอกซเรย์และ CT Scan สมอง ก็ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ซ้ำยังต้องพึ่งยาแก้ปวดกลุ่มอนุพันธ์ยาเสพติด (Codeine) แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น

เมื่อคนไข้มาพบ อ.หมอสุรัตน์ สิ่งแรกที่สังเกตเห็นคือลักษณะท่าทางที่ผิดปกติ อย่างการเดินคอยื่น จากการซักประวัติจึงทราบว่า คนไข้ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละกว่า 6 ชั่วโมง ด้วยท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งท่าทางการนั่ง และรูปแบบของงานที่ทำ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหัว

หมอสุรัตน์ เล่าเคสคนไช้ จ้องจอคอมนาน
ภาพจาก : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์

โพสต์ดังกล่าวระบุไว้ดังนี้ “คนไข้ชาย 58 ปี ปวดหัวมา 6 เดือน ไปตรวจที่ไหนก็ไม่เจอเหตุ กิน codiene ยาแก้ปวด อนุพันธ์ยาเสพติด จนไม่หาย ปวดหัว ชาหัว ยิ่งนอนยิ่งปวด X ray CT brain สมองก็ปกติ

มีคนส่งมาหา คือเดินเข้ามานี่คอยื่นเลย คอยื่นเหมือนนกแร้งคอยาวไปข้างหน้า เลยถามทำอาชีพอะไร ผมทำงานหน้าจอคอม นาน ๆ มาก ๆ วันละเกิน 6 ชั่วโมง ท่านั่งก็เนี่ย โค้งตัวยื่นคอไปนานมาก ๆ

อจ. ตรวจคอ กดแล้วร้าวขึ้นหัวเลย แปล๊บ ตึง ชา นี่แหละหมอที่มันปวด เอ้า นี่ cervicogenic headache ปวดหัวจากกระดูกคอนี่นา กล้ามเนื้อก็ตึง พยายามพยุงคอที่ยาวและผิดรูป ก็ปวดไปกันใหญ่

สรุป x ray คอเบี้ยว เสื่อมเละไปหมด รีบส่งหมอกายภาพ และ กระดูกก่อนจะแย่กว่านี้

สอนอะไรเรื่องนี้

1. เล่นคอม เล่นมือถือนาน ๆ คอยื่น กระดูกเสื่อม

2. ปวดหัวมาจากคอได้ อย่าดูแค่ที่หัว ที่สมอง

3. เจอหมอคนแรกไม่หาย หาหมอคนที่สองได้ บางทีมุมมองต่างกัน

การป้องกันและการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

  • ปรับโต๊ะทำงานให้ถูกหลัก Ergonomic (หน้าจออยู่ระดับสายตา เท้าวางราบ แขนมีที่พัก)
  • ใช้กฎ 20-20-20 (ทุก 20 นาที มองไกล 20 ฟุต นาน 20 วินาที)
  • ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นของคอ/หลัง”
ภาพเอ็กซเรย์ คนไข้จ้องจอคอมนาน
ภาพจาก : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์

นอกจากนี้ ทาง หมอสุรัตน์ ยังได้แนบภาพเอกซเรย์ ‘คอ’ ของคนไข้รายนี้ เปรียบเทียบกับคอของคอทั่วไป ซึ่งมีรูปร่างบิดเบี้ยว ต่างจากรูปคอปกติอย่างมาก

เคสนี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ เพื่อไม่ให้ละเลยสัญญาณเตือนของร่างกาย หากมีอาการปวดศีรษะเรื้อรังโดยหาสาเหตุไม่พบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณคอร่วมด้วย ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนยากเกินแก้ไข

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button