
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เยือนกัมพูชา หารือ ฮุน มาแนต รับมือปมภาษีมะกัน ชี้ต้องรอบคอบเก็บข้อมูล ย้ำอาเซียนจับมือแน่น เพิ่มอำนาจต่อรองรอดไปด้วยกัน ชูพลังอาเชียน พร้อมต่อรอง รับมือกำแพงภาษีทรัมป์
แรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจที่อาจก่อตัวขึ้นจากนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐอเมริกา ท่าทีของประเทศไทยภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือ การดำเนินยุทธศาสตร์อย่างสุขุมและรอบคอบ ล่าสุดระหว่างการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันนี้ 24 เม.ย. 68 ผู้นำไทยได้เปิดเผยแนวทางการรับมือ หลังการหารือกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า ไทยกำลัง จับตาสถานการณ์และท่าทีของสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด
นายกรัฐมนตรี ยังเสริมอีกว่า นอกจากการจับตาสหรัฐฯ ไทยังต้องเฝ้าดูปฏิกิริยาจากนานาประเทศ ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีใหม่และให้เวลาราว 90 วันในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้แม้จะยังไม่ครบ 30 วันดี ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลไทยเลือกที่จะ เก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งจากช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อประเมินผลกระทบและแสวงหาแนวทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ก่อนจะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการเจรจาใน เวลาที่เหมาะสม
ผู้นำไทยมองว่า ท่าทีของสหรัฐฯ เองก็คงอยู่ระหว่างการประเมินผลตอบรับจากทั่วโลกเช่นกัน เนื่องจากกฎเกณฑ์ใหม่นี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การที่ไทยเลือกจะรอดูสถานการณ์ วัดอุณหภูมิ และประเมินความเป็นไปได้ต่าง ๆ จึงเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผล เรายังคงเดินหน้าตามทิศทางที่กำหนดไว้ (on track) นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ยืนยัน พร้อมเสริมว่ารัฐบาลได้ปรึกษาหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สมบูรณ์ที่สุด
พลังอาเซียน เกราะกำบังและอำนาจต่อรอง
นอกเหนือจากการเตรียมพร้อมภายในประเทศ ประเด็นสำคัญที่ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ได้หยิบยกขึ้นหารือกับ สมเด็จฯ ฮุน มาแนต คือการ ผนึกกำลังในกรอบความร่วมมืออาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผู้นำไทยชี้ว่า แต่ละประเทศในอาเซียนต่างมีทรัพยากรและจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ หากสามารถนำศักยภาพเหล่านี้มารวมกัน จะกลายเป็นพลังสำคัญในการเจรจาต่อรองกับมหาอำนาจได้
แนวคิดเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองนี้ ไม่ใช่เพียงมุมมองของไทยและกัมพูชาเท่านั้น นายกรัฐมนตรี แพทองธาร เปิดเผยว่าได้มีการพูดคุยกับผู้นำอาเซียนท่านอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ สมเด็จฯ ฮุน มาแนต ได้ดำเนินการ และพบว่ามีความเห็นพ้องต้องกันว่า หากอาเซียนร่วมมือกัน จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ สามารถสร้างอำนาจต่อรองที่มีน้ำหนัก และหากต้องเผชิญกับกำแพงภาษีจริง ๆ การรวมกลุ่มกันจะช่วยให้ รอดไปด้วยกันได้ โดยอาศัยจุดแข็งและความเฉพาะตัวของภูมิภาคที่ไม่มีทวีปใดเหมือน
แนวทางการเจรจา วิน วิน คือเป้าหมาย
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ย้ำว่า เป้าหมายของการเจรจาในอนาคต คือการพูดคุยในฐานะมิตรประเทศ แสวงหาจุดที่ วิน วิน ทั้งสองฝ่าย ทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างต้องได้รับประโยชน์และคงความแข็งแกร่ง ไม่ใช่การต่อรองที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบหรือได้เปรียบมากจนเกินไป ก่อนที่ นายกอิ๊งค์ จะปิดท้ายว่า
“นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่ต้องห่วง เพราะรัฐบาลปรึกษาทางเอกชนด้วย ทั้งผู้ประกอบการที่ลงทุนในสหรัฐฯ เพราะเราอยากรู้ความเคลื่อนไหวว่าสามารถจะทำอะไรได้บ้างให้ครบถ้วน”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ทรัมป์” เตรียมลดกำแพงภาษีจีน ชี้ 145% สูงไป ส่งสัญญาณยอมถอย
- “นายกอิ๊งค์” แจงสาเหตุเลื่อนถก “ภาษีทรัมป์” ลั่นพร้อมเจรจาด้วยตัวเอง
- ย้อนดูภาพ “ลูกนักการเมือง” ถ่ายคู่ “ทักษิณ-นายกอิ๊งค์” ฉลองงานบวช
อ้างอิง : เฟซบุ๊ก เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว