การเงินเศรษฐกิจ

เลื่อนอีก ฝั่งนายจ้าง ยังไม่เคาะขึ้นค่าแรง 400 อ้างเอี่ยว “ทรัมป์” ขึ้นภาษี

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย ฝั่งนายจ้าง ไม่เคาะขึ้นค่าแรง 400 บาท เพราะกังวลเศรษฐกิจไทย หลังสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษี

วันนี้ (22 เม.ย.) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดไตรภาคี) ที่มีกรรมการเข้าร่วมประชุมครบทั้ง 3 ฝ่าย จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง 5 คน ฝ่ายภาครัฐ 5 คน และฝ่ายลูกจ้าง 5 คน โดยมีวาระเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้

  • การทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568
  • มาตรการลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง

นายบุญสงค์ เผยภายหลังว่า ที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง จึงขอให้ฝ่ายเลขาฯ ในที่ประชุมกลับไปทำ-หาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนนำกลับมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเข้าที่ประชุมบอร์ดฯ อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันประชุมแน่นอน

อย่างไรก็ดี การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเป็นไปตามสูตรการคำนวณ และตามประเภทกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ภาพจาก กระทรวงแรงงาน

ส่วนเรื่องความเห็นต่างในที่ประชุมนั้น “บุญสงค์” กล่าวว่า ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ หลาย ๆ ด้านควรทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพียงพอ รวมถึงนายจ้างยังเห็นว่าไม่ควรขึ้นค่าแรงในช่วงนี้ เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ทางเราจึงชี้แจงว่ามันไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากมีบางกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้ เช่น การท่องเที่ยวและบริการ ส่วนกิจการที่ได้รับผลกระทบนั้น ส่วนใหญ่เป็นการผลิต โดยเฉพาะยานยนต์ การประชุมบอร์ดฯ ครั้งหน้า ก็จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งด้วย

ส่วนกรณีในปี 2567 ที่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างหลายรอบ ซึ่งกลุ่มกิจการท่องเที่ยวคือกลุ่มที่ได้ปรับ แล้วเหตุใดครั้งนี้ถึงพิจารณาให้กลุ่มนี้อีกครั้งนั้น นายบุญสงค์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวกลุ่มที่ได้ปรับครั้งที่แล้วคือ กลุ่มโรงแรม 5 ดาวแต่ปัจจุบันไม่มีดาวแล้ว จึงเห็นว่ากิจการท่องเที่ยวในปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา

อย่างไรก็ดี รายละเอียดขออนุญาตหารือกับคณะกรรมการฯ ก่อนที่จะกำหนดรายละเอียดประเภทที่จะได้รับการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งต้องใช้ความเห็นและมติของบอร์ดฯ เป็นหลัก

ภาพจาก กระทรวงแรงงาน

“ไม่หนักใจที่มีการเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงหลายครั้ง เพราะไม่มีการเมืองบังคับ เราต้องมาดูสภาพเศรษฐกิจ และดูว่าคนใช้แรงงานควรจะได้รับการดูแลค่าครองชีพที่เหมาะสมเป็นหลัก ไม่ได้ดูว่าใครกำหนดหรือเป็นคนชี้นำ หรือการเมืองกำหนดไม่ใช่ ไม่มี โดยในที่ประชุมก็มองถึงสถานการณ์ปัจจุบัน” บุญสงค์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button