ข่าว

ดราม่า ประกวดปกสมุด รร.ดัง จ.ร้อยเอ็ด ภาพ AI คว้าที่ 1 นักวาดโวยลั่น ด้อยค่าศิลปะ

นักวาดสุดทน หลังทีมโปรดักชั่นโรงเรียนดังร้อยเอ็ด ประกาศภาพวาดด้วย AI ชนะเลิศอันดับ 1 ในงานประกวดปกสมุดโรงเรียน ทำชาวเน็ตวิจารณ์สนั่น

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา เกิดดราม่าร้อนวงการศิลปะ หลังฮาโหลววว Production ทีมโปรดักชั่นของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ประกาศผลการประกวดปกสมุดโรงเรียน ปีการศึกษา 2568 โดยรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของน้องนักเรียนหญิงท่านหนึ่ง

ทว่าประเด็นอยู่ที่ภาพปกสมุดโรงเรียนที่ชนะรางวัลนั้น ใช้ “เอไอ” (AI) ในการออกแบบขึ้น จนชาวเน็ตในแวดวงนักวาดมองว่าทางทีมโปรดักชั่นกำลังด้อยค่าทักษะการวาดและจิตวิญญาณของการเป็นนักศิลปะหรือไม่ พร้อมวิจารณ์ตัวน้องนักเรียนว่าทำไมถึงกล้าเอาภาพที่ใช้เอไอสร้างมาประกวดแบบนี้

ขณะเดียวกัน ชาวเน็ตบางส่วนกลับมองว่า การที่น้องใช้เอไอก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะตามกฎกติกาของการประกวดนั้น ไม่ได้ห้ามใช้เอไอแต่อย่างใด แถมความสวยงามในวงการศิลปะยังเรื่องของปักเจกสูง ดังนั้นควรแสดงความเห็นแต่พอดี ไม่จำเป็นพูดจาให้ร้ายน้องขนาดนั้น

ประกวดภาพด้วยเอไอ
ภาพจาก ฮาโหลววว Production

ล่าสุด (10 เม.ย.) ฮาโหลววว Production ออกแถลงการณ์ถึงดราม่าดังกล่าวว่า “เนื่องจากมีประเด็นการใช้ AI (Artificial Intelligence) ในการส่งผลงานเข้าประกวดปกสมุดโรงเรียนสตรีศึกษาของสมาชิกในทีม ทางเราต้องขออภัยอย่างสุดซึ้ง ในการนำ AI มาใช้ประกอบในผลงาน โดยตระหนักรู้ไม่เพียงพอเเละขอน้อมรับความผิดพลาดของสมาชิกคนดังกล่าว ต่อเหตุการที่เกิดขึ้นจากใจจริง

ในส่วนของโพสต์ที่เกิดขึ้นทางเรามีเพียงเจตนาที่เเสดงความยินดีกับสมาชิกภายในทีมเพียงเท่านั้น ทางเราได้รับรู้ข้อวิจารณ์เเละตระหนักถึงความรู้สึกของทุกท่านในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราขอยอมรับข้อผิดพลาดในส่วนนี้ เเละได้ทำการตักเตือนสมาชิกคนดังกล่าว

โครงการที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเเข่งขันภายในโรงเรียนเเละผลการตัดสินเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการเเละผู้ที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดการเเข่งขันและเกณฑ์การตัดสิน ทางโรงเรียนจะเป็นผู้ชี้เเจงต่อไป

สุดท้ายนี้ทางฮาโหลววว Production ขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ล่วงเกินข้อมูล ส่วนบุคคลของสมาชิกในทีม และขอความกรุณาวิจารณ์ผลงานอย่างสุภาพ เพื่อนำไปปรับปรุงเเละพัฒนาต่อไป”

ภาพจาก ฮาโหลววว Production

ใช้เอไอสร้างภาพ ผิดหรือไม่?

ทีมข่าวไทยเกอร์ขออธิบายที่มาที่ไปของกระแสดราม่าข้างต้นก่อน โดยจุดเริ่มต้นของเทรนด์การใช้เอไอสร้างภาพนั้น มาจาก Midjourney ซึ่งเป็นเครื่องสร้างภาพด้วย AI โดยมีวิธีการใช้งานง่าย ๆ คือ ให้เราป้อนคำสั่งที่ต้องการเข้าไป เช่น “จงวาดรูปต้นไม้ที่อยู่กลางเกาะร้างในมหาสมุทร” เจ้า Midjourney ก็จะสร้างภาพดังกล่าวขึ้นมาให้เราไปใช้อะไรก็ได้ ตามแต่ข้อกำหนดที่ระบุไว้

แต่ประเด็นสำคัญคือภาพนั้น ๆ ที่เราสั่งเอไอให้สร้าง เบื้องหลังคือการหยิบเอาลายเส้นศิลปินในโลกจริงที่โพสต์บนอินเทอร์เน็ตมาผสมกัน จนกลายเป็นภาพที่เราได้มา เนื่องจากเอไอไม่ใช่ “มนุษย์” ไม่สามารถนึกคิดเองได้ว่า อะไรคือความงาม อะไรคือต้นไม้ กระบวนการสร้างภาพที่เราต้องการจึงต้องไปหยิบมาจากฐานข้อมูลที่มันมีอยู่

เวลาผ่านไป Chat GPT ของ OpenAI, Gemini ของ Google หรือเครื่องเอไออื่น ๆ กระแสเริ่มบูม คนบางส่วนจึงเปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างสรรค์ผลศิลปะด้วยการวาดมือ ไปเป็นการป้อนคำสั่งให้เอไอสร้างภาพมากขึ้น จนฐานข้อมูลที่เก็บสะสมโตขึ้นเรื่อย ๆ และภาพที่ได้ออกมาก็สมจริงกว่าเดิม ถึงขั้นที่ตอนนี้เริ่มจะแยกไม่ออกแล้วว่าผลงานไหนเอไอสร้างหรือคนสร้าง

ภาพประกอบ

นอกจากนี้ หากตัดเรื่องการใช้เอไอแทนมนุษย์ในสร้างงานศิลปะออกไปนั้น จะมีประเด็นที่ยังโต้เถียงกันอยู่ลิขสิทธิ์งานวาด เพราะฐานข้อมูลเอไอจะหยิบมาจากศิลปินที่โพสต์ผลงานบนโลกออนไลน์โดยไม่ได้ขออนุญาตมาก่อน ดังนั้น ถ้าผลงานเอไอชิ้นดังกล่าวสามารถทำเงินได้ ศิลปินต้นทางที่ถูกลอกลายเส้นก็จะไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ เนื่องจากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลายเส้น-ผลงานตัวเองถูกก๊อบปี้ไปตั้งแต่แรก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button