ข่าวต่างประเทศ

เบื้องหลัง คืนชีพ ไดร์วูล์ฟ หมาป่าดึกดำบรรพ์ สูญพันธุ์ไป 10,000 ปีก่อน

เจาะเบื้องหลัง Colossal ฟื้นคืนชีพ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ สัตว์ป่าดึกดำบรรพ์ สูญพันธุ์เมื่อ 10,000 ปีก่อน นักวิทย์ฯ ชี้แค่เหมือน ยังไม่ใช่ชุบชีวิต ด้านนักชีววิทยาชี้ข้อจำกัด

บริษัทพันธุวิศวกรรม Colossal Biosciences ประกาศข่าวดีได้ฟื้นคืนชีพลูกหมาป่า 3 ตัว ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘หมาป่าโลกันตร์’ หรือ ‘ไดร์วูล์ฟ’ (Dire Wolf) สัตว์นักล่าขนาดมหึมาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 10,000 ปี ปัจจุบัน ลูกหมาป่าทั้งสามตัวซึ่งมีอายุราว 3 – 6 เดือน เติบโตในสถานที่แห่งหนึ่งไม่เปิดเผยในประเทศสหรัฐอเมริกา

ทีมนักวิจัยของ Colossal รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ลูกหมาป่าทั้งสามตัว มีลักษณะเด่นตามที่ได้รับการออกแบบทางพันธุกรรม คือ มีขนยาวสีขาว, มีกรามที่แข็งแรง, และมีน้ำหนักตัวปัจจุบันประมาณ 80 ปอนด์ (ราว 36 กิโลกรัม) คาดว่าจะเติบโตจนมีน้ำหนักได้ถึง 140 ปอนด์ (ราว 63.5 กิโลกรัม)

สำหรับไดร์วูล์ฟทั้ง 3 ตัว แบ่งออกเป็น ตัวผู้ 2 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ชื่อ ‘โรมูลัส’ (Romulus) และ ‘เรมุส’ (Remus) และตัวเมีย 1 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2025 ชื่อ ‘คาลีซี’ (Khaleesi)

ลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ
ภาพจาก : ap

เมื่อโตเต็มวัยอาจมีขนาดใกล้เคียงกับไดร์วูลฟ์ในอดีต ซึ่งใหญ่กว่าหมาป่าสีเทา (Gray Wolf) ถือเป็นญาติสนิทที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ลักษณะเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาและถอดรหัส DNA โบราณจากซากฟอสซิลของหมาป่าโลกันตร์ ทั้งจากฟันอายุ 13,000 ปี และชิ้นส่วนกะโหลกอายุ 72,000 ปี

‘เบธ ชาปิโร’ (Beth Shapiro) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Colossal อธิบายกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมว่า เริ่มต้นจากการนำเซลล์เม็ดเลือดของหมาป่าสีเทาที่ยังมีชีวิตอยู่ มาใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม CRISPR เพื่อดัดแปลงแก้ไขยีนในตำแหน่งต่าง ๆ กว่า 20 ตำแหน่ง โดยอ้างอิงจากข้อมูล DNA โบราณของหมาป่าโลกันตร์

จากนั้นจึงนำสารพันธุกรรมที่ดัดแปลงแล้ว ถ่ายฝากเข้าไปในเซลล์ไข่ของสุนัขบ้าน (Domestic Dog) และเมื่อได้ตัวอ่อน (Embryo) ที่พร้อมแล้วก็นำไปฝากในครรภ์ของสุนัขบ้านที่ทำหน้าที่เป็น ‘แม่อุ้มบุญ’ จนกระทั่งให้กำเนิดลูกหมาป่าดัดแปลงพันธุกรรมออกมาหลังจากตั้งท้องนาน 62 วัน

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์หลายคนเน้นย้ำว่าความสำเร็จครั้งนี้ยังไม่ใช่การชุบชีวิตไดร์วูล์ฟให้กลับมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

หมาป่าไดร์วูล์ฟ - 2
ภาพจาก : ap

‘วินเซนต์ ลินช์’ (Vincent Lynch) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ชี้ว่า “สิ่งที่คุณทำได้ตอนนี้คือการสร้างบางสิ่งที่ดูเผินๆ คล้ายกับสิ่งอื่นเท่านั้น” ไม่ใช่การฟื้นคืนชีพสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสัตว์ของ Colossal อย่าง ‘แมตต์ เจมส์’ (Matt James) ยอมรับว่า ลูกหมาป่าเหล่านี้จะมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึง แต่พวกมันอาจจะไม่มีวันได้เรียนรู้ท่าไม้ตายในการล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เหมือนไดร์วูล์ฟตามธรรมชาติ เพราะไม่มีพ่อแม่พันธุ์แท้คอยสอน และสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาในปัจจุบันก็แตกต่างไปจากยุคดึกดำบรรพ์แล้ว

หมาป่าไดร์วูล์ฟ
ภาพจาก : ap

ก่อนหน้านี้ Colossal Biosciences เคยประกาศโครงการลักษณะคล้ายกัน โดยพยายามสร้างสัตว์ที่คล้ายคลึงกับ ‘แมมมอธขนยาว’ (Woolly Mammoth) และ ‘นกโดโด’ (Dodo) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

นอกจากความพยายามในการฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ บริษัทยังได้รายงานความสำเร็จในการโคลนนิ่ง ‘หมาป่าแดง’ (Red Wolf) เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ได้สำเร็จ 4 ตัว โดยใช้เทคนิคที่คล้ายกันคือการนำเซลล์จากเลือดของหมาป่าแดงในธรรมชาติมาใช้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับหมาป่าแดงที่อยู่ในกรงเลี้ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการอนุรักษ์สายพันธุ์

ด้าน ‘คริสโตเฟอร์ เพรสตัน’ (Christopher Preston) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยมอนทานา มองว่าเทคโนโลยีนี้อาจมีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ เพราะรบกวนสัตว์ป่าน้อยกว่าเทคนิคโคลนนิ่งแบบอื่น แต่ก็ยังมีความท้าทายในการวางยาสลบสัตว์ป่าเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด

‘เบน แลมม์’ (Ben Lamm) CEO ของ Colossal เผยว่า ทีมงานได้เข้าพบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนมีนาคม ซึ่ง ‘ดั๊ก เบอร์กัม’ (Doug Burgum) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้ชื่นชมโครงการนี้ผ่านแพลตฟอร์ม X ว่าเป็นยุคใหม่ของวิทยาศาสตร์

ข้อมูลจาก : apnews

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button