สุขภาพและการแพทย์

แพทย์เตือน “คอคาร์บอน” ไม่ใช่ขี้ไคล เสี่ยงเบาหวาน รีบหาหมอเช็กอินซูลิน

หยุดขัด! ไม่ช่วยแก้ คอคาร์บอน ผิวคล้ำหนาดุจกำมะหยี่ ตามซอกข้อพับ แพทย์ ชี้ เป็นสัญญาณเตือน ภาวะดื้ออินซูลิน เบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน

เคยสงสัยไหมว่าไอ้รอยดำ ๆ หนา ๆ ที่บริเวณคอ หรือตามซอกแขน ซอกขา ข้อพับ ที่บางทีคนเรียกว่า คอคาร์บอน หรือเข้าใจผิดว่าเป็นขี้ไคลเพราะความสกปรกน่ะ เพจ Drama-addict เขาออกมาบอกว่า มันไม่ใช่ขี้ไคล แถมขัดให้ตายก็ไม่ออกอีกด้วย

เพจ Drama-addict อธิบายว่า รอยดำ ๆ เนี่ย มันไม่ใช่เรื่องความสะอาด แต่มันเป็นสัญญาณเตือน ทางสุขภาพ ที่ร่างกายส่งออกมา ที่เรียกในทางการแพทย์ว่า อะแคนโทซิส นิกริแคนส์ (Acanthosis nigricans) คือ ภาวะที่ผิวหนังบริเวณคอมีสีคล้ำขึ้น หนาขึ้น และอาจมีลักษณะคล้ายกำมะหยี่ นอกจากบริเวณคอแล้ว ยังสามารถพบได้ที่รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่าง ๆ

เพจดังเตือน คอคาร์บอน อันตราย ขัดไม่ออก
Drama-addict

สาเหตุหลัก ของภาวะนี้มักเกี่ยวข้องกับ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) พบในผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานหรือเบาหวานชนิดที่ 2

คอคาร์บอน เสี่ยงเบาหวาน

ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ​และคนที่มี ภาวะถุงน้ำในรังไข่ (PCOS) เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของฮอร์โมนในผู้หญิง

นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาสเตียรอยด์ ก็อาจทำให้เกิดรอย คอคาร์บอน หรือ Acanthosis nigricans ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเสียดสีของผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมะเร็งบางชนิด (พบได้น้อย) ก็อาจเป็นสาเหตุได้ ​

การรักษาและป้องกัน

1. การควบคุมน้ำหนัก

  • ลดน้ำหนักเพื่อปรับปรุงความไวต่ออินซูลิน

2. การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

  • โดยการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย

3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจเป็นสาเหตุ

  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่

ทานอาหารที่มีประโยชน์

แนวทางการรับประทานอาหารเพื่อลดภาวะดื้ออินซูลิน

​การจัดการภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม​

– ควรบริโภคธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง โฮลวีต และขนมปังโฮลเกรน ซึ่งมีใยอาหารสูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

– เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ปลา และถั่วเมล็ดแห้ง เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความอิ่ม

– บริโภคผักใบเขียวและผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ เช่น เบอร์รี่ แอปเปิ้ล เพื่อเพิ่มใยอาหารและวิตามิน

– ลดการบริโภคน้ำตาล ขนมหวาน และอาหารทอด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือด

ออกกำลังกาย ลดภาวะดื้ออินซูลิน

การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน

– กิจกรรมเช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินและควบคุมน้ำหนัก

– การยกน้ำหนักหรือฝึกด้วยแรงต้าน อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและเพิ่มการเผาผลาญ

การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายดังกล่าว จะช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : World Medical Hospital

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button