การเงินเศรษฐกิจ

เปิดคู่มือ วางแผนการเงินรับสงกรานต์ 2568 ใช้จ่ายสุขใจ เหลือใช้ถึงสิ้นเดือน

คู่มือวางแผนใช้เงินสงกรานต์ 2568 อย่างไรให้ไม่ช็อต? แนะวิธีตั้งงบ ติดตามรายจ่าย ลดฟุ่มเฟือย ให้มีเงินเหลือใช้สบาย ๆ ถึงสิ้นเดือน แม้ใช้จ่ายสุขใจ แต่รับรองไม่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแน่นนอน

นับถอยหลังสู่เทศกาลสงกรานต์ 2568 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า บรรยากาศแห่งความสุข การพักผ่อน และการเฉลิมฉลองเริ่มคึกคัก ผู้อ่านหลายท่านคงวางแผนเดินทางกลับบ้านไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รัก และบ้างก็เตรียมตัวไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือออกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวประจำปี

เทศกาลสงกรานต์ไม่เพียงแต่นำความสุขกายสบายใจมาให้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่หลายคนกุมขมับไปกับ “การใช้จ่าย” ที่มากกว่าปกติ ทั้งค่าเดินทาง ค่าของขวัญ ค่าอาหาร รวมถึงค่ากิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่ดีพอ ความสุขในช่วงเทศกาลอาจกลายเป็นความกังวลใจเมื่อใกล้สิ้นเดือน เพราะเงินในกระเป๋าอาจร่อยหรอ หรือที่หลายคนมักพูดติดปากว่า “สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ” นั่นเอง

อย่างไรก็ดี แม้ปัญหาทางการเงินจะเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ผู้อ่านทุกท่านก็สามารถร่วมเฉลิมฉลองอย่างมีความสุข ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยทางการเงินได้เช่นกัน ในวันนี้ ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ จึงมีข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับ “วิธีวางแผนใช้เงินช่วงสงกรานต์ ให้มีเงินเหลือพอใช้ถึงสิ้นเดือน” เพื่อให้ทุกท่านได้มีความสุขอย่างเต็มที่ในเทศกาลปีใหม่ไทย

รู้จัก “หลุมพราง” ค่าใช้จ่ายช่วงสงกรานต์

ก่อนจะเริ่มวางแผน เราต้องรู้ก่อนว่าเงินของเรามีแนวโน้มจะถูกใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีดังนี้

  • ค่าเดินทาง : ไม่ว่าจะขับรถกลับบ้าน ก็จำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำมัน และค่าทางด่วน หรือหากซื้อตั๋วรถโดยสาร รถไฟ เครื่องบิน ทุกรูปแบบการเดินทางเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงใช้จ่ายไม่ได้
  • ค่าของขวัญและของฝาก : สำหรับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนฝูง เพราะเมื่อนานทีปีหนจะกลับไปเยี่ยมเยียนบ้านเสียที หากกลับไปมือเปล่าก็คงจะไม่ดีแน่
  • ค่าอาหารและเครื่องดื่ม : การเลี้ยงฉลองกับครอบครัว การนัดเจอเพื่อน การทานข้าวนอกบ้านมื้อพิเศษ ก็ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อย
  • ค่ากิจกรรม/อุปกรณ์ : สำหรับผู้อ่านท่านใดมีแพลนจะเดินทางไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวประจำปี บรรดาค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว หรือค่าอุปกรณ์เล่นน้ำสงกรานต์นั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญ
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น ๆ : การช้อปปิ้งสินค้าลดราคา หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด

วางแผนการเงินอย่างมีสติ รับมือทุกค่าใช้จ่าย

เมื่อทราบแล้วว่า แนวโน้มการใช้จ่ายในเดือนนี้เป็นอย่างไร ลำดับต่อไปก็ถึงเวลาของการจัดสรรเงินให้ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และเหลือเก็บพอถึงสิ้นเดือน ซึ่งวิธีการวางแผนทางการเงินง่าย ๆ มีดังนี้

1. ตั้งงบประมาณที่ชัดเจน

กำหนดวงเงินรวมที่สามารถใช้จ่ายได้ในช่วงสงกรานต์นี้ โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายจำเป็นหลังเทศกาล จากนั้นแบ่งงบประมาณย่อยสำหรับแต่ละประเภทค่าใช้จ่าย อาทิ เดินทาง, ของขวัญ, อาหาร, สันทนาการ และเงินสำรองฉุกเฉิน อย่างเป็นสัดส่วนและสมเหตุสมผล

2. จดรายการและจัดลำดับความสำคัญ

ลิสต์ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด แล้วจัดลำดับว่าอะไรคือ “สิ่งจำเป็น” อาทิ ค่าเดินทางกลับบ้าน และอะไรคือ “สิ่งฟุ่มเฟือย” เป็นต้นว่า ปาร์ตี้มึนเมา และของฝากราคาแพง ซึ่งหากมีงบจำกัด ก็ให้ตัดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออกก่อน

3. หมั่นบันทึกรายรับ-รายจ่าย

ในระหว่างช่วงหยุดยาว สิ่งที่จะช่วยเตือนสติเรื่องการใช้จ่ายมากที่สุดก็คือ “การบันทึกรายจ่าย” ที่เกิดขึ้นจริง อาจจะใช้แอปพลิเคชัน สมุดโน้ต หรือวิธีอื่น ๆ ตามแต่ความถนัด เพื่อให้ทราบว่าใช้เงินไปเท่าไหร่แล้ว ยังอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้หรือไม่อย่างไร เพื่อให้รู้ตัวเองอยู่เสมอ และคิดหาหนทางจัดสรรงบอื่น ๆ หากมีการใช้จ่ายเกินแผนที่วางไว้

4. วางแผนกิจกรรม เน้นความคุ้มค่า

เลือกแนวทางที่ไม่ต้องใช้เงินมากนัก เช่น หากต้องการรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว ก็อาจเลือกเป็นการทำอาหารกินกันเองที่บ้าน ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย หรือหากไปเที่ยว ก็อาจเลือกสถานที่ที่ไม่ไกลมาก หรือมองหาโปรโมชั่นส่วนลดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

5. เตรียมเงินสดและจำกัดการใช้บัตรเครดิต

การกำหนดงบและถอนเงินสดออกมาใช้จ่ายตามงบนั้น จะช่วยให้เห็นภาพการใช้เงินที่ชัดเจน และยับยั้งชั่งใจได้ดีกว่าการใช้บัตรเครดิต ซึ่งอาจทำให้ใช้จ่ายเกินตัวโดยไม่รู้ตัว แต่หากจำเป็นต้องใช้บัตร ควรแน่ใจว่าสามารถชำระคืนได้ตามกำหนด และเลือกสรรประเภทของบัตรเครดิตที่คุ้มค่า และตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด อาทิ การครอบคลุมร้านค้าร่วมรายการ และการแลกรับคะแนนเพื่อเป็นส่วนสด

6. แบ่งเงินสำหรับชีวิตหลังสงกรานต์

เน้นย้ำว่าข้อนี้สำคัญมาก โดยก่อนจะใช้จ่ายเพื่อความสุขในช่วงเทศกาล อย่าลืมเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นที่จะตามมาหลังวันหยุดยาว เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะยังมีเงินพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนจริง ๆ และไม่เดือดร้อนผู้อื่น หรือตนเอง จนกระทั่งต้องอดข้าวอดน้ำ

7. สร้างนิสัยใช้เงินอย่างชาญฉลาด

นอกจากการวางแผนทางการเงินแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะช่วยให้การใช้จ่ายสอดคล้องกับรายรับได้มากเช่นกัน ได้แก่

  • การเปรียบเทียบราคา ก่อนซื้อตั๋วเดินทาง หรือของขวัญ ลองเปรียบเทียบราคาจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อจะได้เลือกใช้จ่ายในราคาที่สบายกระเป๋ามากที่สุด
  • มองหาโปรโมชั่น หรือใช้ประโยชน์จากส่วนลดต่าง ๆ แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ซื้อเพียงเพราะเห็นว่าลดราคา
  • เน้นคุณค่าทางใจ เพราะของขวัญสำหรับผู้ใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป การใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน หรือของขวัญทำมือก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย
  • สื่อสารกับคนรอบข้าง หากมีกิจกรรมที่ต้องแชร์ค่าใช้จ่าย หรือการแลกของขวัญ ลองพูดคุยตกลงเรื่องงบประมาณกันล่วงหน้าก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่ดี

การวางแผนการเงินสำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 นั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของทุกท่าน เพียงแต่จะต้องมีสติ รู้จักประมาณตน และจัดลำดับความสำคัญให้ดี การได้กลับบ้าน พบปะครอบครัว หรือท่องเที่ยวพักผ่อน เป็นความสุขที่สำคัญไม่น้อยก็จริง แต่ความสุขนั้นควรจะยั่งยืน ไม่ใช่ความสุขชั่วคราวที่ต้องแลกมากับปัญหาทางการเงินในภายหลัง

เมื่อวางแผนทางการใช้จ่ายอย่างรอบคอบแล้ว ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ ก็หวังว่าทุกท่านจะมีวันปีใหม่ไทย ที่เต็มไปด้วยความสุขกาย สบายใจ และมีเงินใช้เพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนนะคะ สุขสันต์วันสงกรานต์ 2568 ค่ะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button