การเงินเศรษฐกิจ

เปิดลิสต์ 15 สินค้าส่งออกไทย อ่วมภาษีสหรัฐ 36% มือถือ-อิเล็กฯ-ยานยนต์ สาหัส

สหรัฐฯ ขึ้นภาษีไทย 36% มีผลบังคับใช้ 9 เม.ย.นี้ กระทบ 15 สินค้าส่งออกหลัก ทั้งมือถือ-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์ พาณิชย์เร่งเจรจาลดหย่อน พร้อมแผนเยียวยา

เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ หลังสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ (Retaliatory Tariff) สินค้าไทยในอัตราสูงถึง 37% ซึ่งเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 นี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสินค้าส่งออกสำคัญ 15 รายการแรกของไทยไปยังสหรัฐฯ

ล่าสุด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รู้สึกตกใจที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีไทยในอัตราที่สูงเกินคาด โดยสหรัฐฯ คำนวณจากอัตราภาษีที่คู่ค้าเก็บจากสหรัฐฯ และที่สหรัฐฯ เก็บจากคู่ค้า รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งของไทยถูกคำนวณได้ถึง 72% แต่สหรัฐฯ เลือกเก็บจริงที่ 37% อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวยังต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ที่ถูกเก็บถึง 46% หรือญี่ปุ่นที่ถูกเก็บ 24% แม้ทั้งสองประเทศจะได้เริ่มเจรจากับสหรัฐฯ ไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม

ด้าน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า อัตราภาษี 37% จากเอกสารคำสั่งฝ่ายบริหาร ถือว่าเกินความคาดหมาย (ในเอกสารแถลงข่าวระบุ 36%) แต่ยังพอมีเวลาเจรจาก่อนมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ในมูลค่าสูง 15 อันดับแรก ได้แก่

1. โทรศัพท์มือถือ

2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

3. ยางรถยนต์

4. เซมิคอนดักเตอร์

5. หม้อแปลงไฟฟ้า

6. ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์

7. ชิ้นส่วนรถยนต์

8. อัญมณีและเครื่องประดับ

9. เครื่องปรับอากาศ

10. กล้องถ่ายรูป

11. เครื่องพรินเตอร์

12. วัตถุดิบอาหารสัตว์

13. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

14. ข้าว

15. ตู้เย็น

กระทรวงพาณิชย์ประเมินเบื้องต้นว่า หากอัตราภาษีอยู่ที่ 37% อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ราว 25,000 – 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 880,000 ล้านบาท) ในช่วง 1 ปี หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ประมาณ 30,000 – 40,000 ล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ 1.3 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม รมว. พาณิชย์ ย้ำว่า ไม่ต้องกังวล เพราะไทยมีคณะทำงานเตรียมพร้อมเจรจา กำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และมาตรการเยียวยาไว้แล้ว และ มั่นใจว่าจะสามารถเจรจาต่อรองให้สหรัฐฯ ลดภาษีลงได้ โดยแนวทางการเจรจาต่อรองที่ไทยเตรียมไว้นั้น มีดังนี้

1. ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่จากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ

2. เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ

3. ลดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้หารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเงื่อนไขสำหรับนิติบุคคลสัญชาติไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button