สหรัฐฯ ออกกฎเหล็ก ห้าม จนท. ในจีน-ฮ่องกง มีสัมพันธ์รัก กับพลเมืองจีน

สหรัฐฯ สั่งห้ามบุคลากรในจีนและฮ่องกง มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว หรือร่วมเพศกับพลเมืองจีน ฝ่าฝืนเจอไล่ออกทันที มีผลตั้งแต่มกราคม 68 สะท้อนความตึงเครียดด้านความมั่นคง
วันที่ 3 เมษายน 2568 สำนักข่าวต่างประเทศ AP รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกนโยบายใหม่ สั่งบุคลากรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประจำการในประเทศจีน รวมถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว และผู้รับเหมาที่ผ่านการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลลับได้ ห้ามมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือทางเพศใด ๆ กับพลเมืองจีน อันถือเป็นนโยบาย “ห้ามสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว” (Non-fraternization) ที่ครอบคลุมและเข้มงวดอย่างยิ่ง
แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวเป็นข้อมูลภายในที่เป็นความลับ ซึ่งถูกบังคับใช้โดย ‘นิโคลัส เบิร์นส์’ (Nicholas Burns) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะพ้นจากตำแหน่ง และเดินทางออกจากประเทศจีนไม่นาน รวมถึงเป็นช่วงก่อนที่ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จะเข้ารับตำแหน่งในวาระที่สอง อีกด้วย
แม้ว่าหน่วยงานบางแห่งของสหรัฐฯ อาจมีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่การออกนโยบาย “ห้ามสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว” ที่ครอบคลุมและชัดเจนเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา เพราะปกติแล้วการที่นักการทูตอเมริกันในต่างประเทศจะคบหา หรือแม้กระทั่งแต่งงานกับคนท้องถิ่นนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก
ย้อนกลับไปช่วงฤดูร้อนปี 2567 เคยมีการบังคับใช้นโยบายเช่นนี้ เพียงแต่จำกัดวงแคบกว่า โดยห้ามบุคลากรสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและความสัมพันธ์ทางเพศกับพลเมืองจีน ที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือพนักงานสนับสนุนอื่น ๆ ในสถานทูตและสถานกงสุล 5 แห่งในจีน
ก่อนที่ต่อมา อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นิโคลัส เบิร์นส์ จะได้ขยายขอบเขตคำสั่งนี้ให้ครอบคลุมพลเมืองจีนทุกคนในประเทศจีน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม AP เผยว่า ไม่สามารถระบุคำจำกัดความที่ชัดเจนของวลี “ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือทางเพศ” ตามนโยบายดังกล่าวได้
เบื้องหลังคำสั่ง อาจเกิดจากความกังวลด้านความมั่นคง
แหล่งข่าว 2 ราย ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว AP ว่า นโยบายใหม่นี้เริ่มมีการหารือกันครั้งแรกเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว หลังจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ติดต่อมายัง นิโคลัส เบิร์นส์ เพื่อแสดงความกังวลว่าข้อจำกัดเดิมนั้นยังไม่เข้มงวดมากพอ ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลที่อาจเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความมั่นคงหรือการต่อต้านข่าวกรองในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่ตึงเครียด
นโยบายใหม่นี้ครอบคลุมหน่วยงานของสหรัฐฯ ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างสถานทูตในปักกิ่ง และสถานกงสุลในกว่างโจว, เซี่ยงไฮ้, เสิ่นหยาง และอู่ฮั่น รวมไปถึงสถานกงสุลสหรัฐฯ ในฮ่องกงด้วย แต่จะไม่มีผลบังคับใช้กับบุคลากรที่ประจำการนอกประเทศจีน
สำหรับข้อยกเว้นมีเพียงข้อเดียวคือ บุคลากรที่มีความสัมพันธ์กับพลเมืองจีนอยู่ก่อนที่นโยบายนี้จะบังคับใช้ สามารถยื่นเรื่องขอการยกเว้นได้ แต่หากคำขอถูกปฏิเสธ พวกเขาจะต้องยุติความสัมพันธ์นั้น หรือลาออกจากตำแหน่งทันที หากใครก็ตามฝ่าฝืนนโยบายนี้ จะถูกสั่งให้ออกจากประเทศจีนทันที
อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวได้มีการประกาศไปยังบุคลากรชาวอเมริกันในจีน ทั้งทางวาจาและทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา แต่ไม่มีการประกาศต่อสาธารณะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทรัมป์ พร้อมพิจารณา ลดภาษีนำเข้าจีน หากอีกฝ่ายอนุมัติขาย TikTok ให้สหรัฐฯ
- ศาลสั่งเลิกแบน Xiaomi ชั่วคราว หลังไม่พบหลักฐานเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารจีน
- สหราชอาณาจักร-เยอรมัน เตือน ปชช. เดินทางเข้าสหรัฐฯ เข้มกฎ ระวังถูกจับ