การเงินเศรษฐกิจ

สธ. ยัน พร้อมรับประกันสังคม เข้าบัตรทอง แต่ไม่บังคับ ชี้เป็นเรื่องของสิทธิ

สมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวยินดี หากประกันสังคมต้องการรวมกับกองทุนบัตรทอง แต่ขอไม่บังคับ เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เผยนายกฯ เซ็นตั้งกรรมการ ศึกษาสิทธิรักษา 3 กองทุน

วานนี้ (24 ก.พ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสังคมวิจารณ์สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมว่าด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ จึงมีข้อเสนอให้ดึงสิทธิรักษาประกันสังคมมาให้ สปสช. บริหาร ว่า เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าพร้อมมา ตนก็พร้อมรับและพัฒนาร่วมกัน หากไปบังคับจะเป็นเรื่องได้

Advertisements

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวเคยเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถรวมกองทุนเข้าด้วยกันได้ แม้จะพยายามตั้งกรรมการเข้ามาช่วยดูแลแล้วก็ตาม

ส่วนเรื่องข้อสงสัยว่าจะทำอย่างไร หากกองทุนบัตรทองที่ได้งบประมาณจากภาครัฐ ขณะที่ประกันสังคมได้ส่วนหนึ่งจากผู้ประกันตนนั้น “สมศักดิ์” กล่าวว่า ถ้าทำได้ จำเป็นต้องตั้งต้นกันใหม่ แต่ไม่กล้าพูดว่าจำเป็นต้องมา

สมศักดิ์ เทพสุทิน
ภาพจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน

ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยและมีกระแสว่าจะรวมกองทุน รักษาพยาบาลของราชการ, ประกันสังคม และบัตรทองนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงกฎหมายอยากให้รวมกัน แต่ผ่านมา 20 ปีแล้วก็ไม่สามารถทำได้ แม้จะพยายามตั้งกรรมการมาช่วยดูแลก็ตาม เพราะหน่วยงานในแต่ละสมัยรัฐบาลทำไม่ได้

“ผมเห็นมีผู้เสนอรายงานเข้ามาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการรวมกองทุนว่า เพราะอะไรถึงไม่สามารถทำได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาเรื่องนี้ เพราะมองว่าน่าจะทำได้ เป็นการบ้านที่ต้องมาศึกษา จริงๆบัตรทองมีการขยายการให้บริการมากขึ้น อย่างล่าสุด สปสช. ยังบริหารจัดการสิทธิรักษาพยาบาลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งพนักงาน ร.ฟ.ท.มั่นใจใน สปสช. และคาดว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆตามมาอีก” นายสมศักดิ์ กล่าว

ภาพจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน

ทั้งนี้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 33/2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ลงนามโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 สืบเนื่องจากตามที่รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของประเทศไทย งบประมาณดังกล่าวคือสวัสดิการที่สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สร้างหลักประกันสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของประชากรทุกคนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

Advertisements

ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต โดยงบประมาณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณานโยบายและแนวทางการบริหารงบประมาณสำหรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิการรักษาพยาบาล จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย รวม 22 คน ประกอบด้วย

1. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธานกรรมการ
2. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายชูศักดิ์ ศิรินิล) เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานคนที่ 2
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 3
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ
6. ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นกรรมการ
7. ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ
8. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
9. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ
10. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นกรรมการ
11. เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นกรรมการ
12. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ
13. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เป็นกรรมการ
14. เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นกรรมการ
15. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการ
16. ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นกรรมการ
17. นายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการ
18. นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นกรรมการ
19. เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เป็นกรรมการ
20. รองปลัด สธ. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
21. อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
22. เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลฯ

1. เสนอแนะ กำหนดนโยบาย แนวทางการบริหาร และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพค่าใช้จ่าย หรือวิธีการอื่นใดในการลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ และลดภาระความเสี่ยงทางการคลังให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิการรักษาพยาบาล

2. บูรณาการความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการบริหารทางนโยบายและแผนระดับประเทศการบริหารงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของประเทศไทย เป็นต้น

3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

4. รายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button