เคาะแล้ว! รถไฟฟ้าสายสีชมพู เชื่อมต่อเมืองทองธานี เปิดบริการ 19 ก.ค. นี้

เตรียมเฮ! คมนาคม ยืนยันแล้ว รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเมืองทองธานี เริ่มเปิดให้บริการ 19 ก.ค. นี้ ทดลองนั่งฟรีปลายเดือน มิ.ย. อัตราค่าโดยสาร 15 – 22 บาท
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี ที่ทุ่มงบลงทุนรวม 4,072 ล้านบาท โดยระบุว่ามีภาพรวมความก้าวหน้ากว่า 85.97% แล้ว คาดว่าเปิดระบบจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568
หลังจากนั้นหากไม่มีข้อผิดพลาด ปลายเดือนมิถุนายน 2568 จะทดลองเปิดให้ประชาชนได้นั่งฟรี เป็นระยะเวลา 1 เดือน ก่อนเปิดบริการเต็มรูปแบบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ 15 -22 บาท และจะเข้าร่วมมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ภายในเดือน ก.ย.2568 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ต่อไป

ทางออกและเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เมืองทองธานี
สำหรับส่วนเชื่อมต่อสถานีเมืองทองธานี (PK10) ที่ขยายออกมาจากส่วนหลักที่เปิดให้บริการไปแล้วนั้น จะเชื่อมไปยังจุดหมายต่าง ๆ รวม 3 ชานชาลา คือ ชานชาลาที่ 1 มุ่งหน้าสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ชานชาลาที่ 2 มุ่งหน้าไปยังสถานีมีนบุรี (PK30) และชานชาลาที่ 3 สำหรับการเดินทางมุ่งหน้าไปที่อิมแพ็คเมืองทองธานี (MT01)
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูสถานีเมืองทองธานี (MT01) สามารถใช้ทางออกได้ทั้งหมด 4 ทาง โดยแบ่งเป็นรายละเอียดดังนี้
- ทางออกที่ 1 : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ทางออกที่ 2 : โรงเรียนวัดผาสุกมณีจักร
- ทางออกที่ 3 : อิมแพ็ค เมืองทองธานี
- ทางออกที่ 4 : ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39
ส่วนสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีทางออกทั้งสิ้น 4 ทางเช่นกัน ตามรายละเอียดดังนี้
- ทางออกที่ 1 : เชื่อมต่อไปยังทะเลสาบเมืองทองธานี
- ทางออกที่ 2 : ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39
- ทางออกที่ 3 : สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
- ทางออกที่ 4 : อิมแพ็ค เมืองทองธานี

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมาชมนิทรรศการ งาน Expo หรือคอนเสิร์ตของศิลปิน สามารถใช้ทางเชื่อมสกายวอล์ก (Skywalk) ที่ต่อขยายจากสถานีเมืองทองธานีไปถึงอาคารชาเลนเจอร์ และอิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานีได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้ทางออกที่ 3

อย่างไรก็ตาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เสริมว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นระบบโมโนเรล (Monorail) เหมือนกับที่ใช้ในโครงการส่วนหลัก สถานีแคราย – มีนบุรี และนับเป็นหนึ่งในโครงการขนส่งรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมพื้นที่การเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งรัฐบาลมีเป้าประสงค์ที่จะสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถลดความติดขัดของการจราจรในพื้นที่ถนนแจ้งวัฒนะได้เป็นอย่างดี รวมถึงปัญหา PM 2.5 ด้วย.
ภาพจาก : Facebook รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สุริยะ ยอมรับ ไม่ต่อมาตรการขึ้นรถไฟฟ้า-รถเมล์ ฟรี เหตุงบฯ มีจำกัด
- คมนาคมฯ ของบกลางเพิ่ม เป็น 329 ล้าน ชดเชย รถไฟฟ้า-ขสมก. ฟรี
- ลูกหนี้เฮ ครม.ไฟเขียว “คุณสู้ เราช่วย 2” ช่วยลูกหนี้รายย่อย Non-Banks เช็กเงื่อนไขที่นี่