“บุญสงค์” โต้ปมดูงาน 2 วัน ชี้เป็นแค่ตารางแบบร่าง ดูจริงเป็นอีกเรื่อง

บุญสงค์ โต้ สส.ไอซ์ ปมดูงานจริง 2 วัน ชี้เป็นแค่ตารางแบบร่าง เพื่อเสนอให้บอร์ด ดูจริงเป็นอีกเรื่อง ยันประกันสังคม ไม่น้อยหน้าบัตรทอง
นาย บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ รักชนก ส.ส.กทม.พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดการทำงานของคณะกรรมการการแพทย์ หรือ ‘บอร์ดแพทย์’ ประกันสังคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม รวมการเดินทางราชการไปดูงานต่างประเทศ และการทำ Web App เพื่อบริหารจัดการหลังบ้าน 850 ล้านบาท ตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้
โดยนายบุญสงค์ กล่าวว่า ทุกเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ชี้แจงไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นไปตามข้อเท็จจริง และเป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด การดำเนินงาน Web App เพื่อบริหารจัดการหลังบ้านของ สปส. อยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่กำหนดไว้ แต่ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการฮั้วหรือไม่ ซึ่งขณะนี้การทำ Wep App กำลังให้ทาง สปส.ดำเนินการ และจะแจ้งออกมาให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
นายบุญสงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งงานล่าช้า มีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ กรณีที่ส่งงานช้า ต้องมีค่าปรับอยู่แล้วในสัดส่วนเงินที่ต่างกัน ซึ่ง สปส.ได้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากกระทำโดยมิชอบ ตนและเจ้าหน้าที่จะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จึงยืนยันได้ว่า ดำเนินการตามระเบียบแน่นอน แต่ทั้งนี้อาจจะมีเงื่อนไขในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“ขอยืนยันว่า ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรืองบประมาณรายจ่ายของสำนักงานฯ ทุกกระบวนการ ดำเนินตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด งบประมาณที่จ่ายออกไป ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ รวมถึงบอร์ดประกันสังคม ในการพิจารณาอนุมัติ ยืนยันพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ ที่สำคัญ ทุกอย่าง ทุกเม็ดเงิน ทุกงบประมาณ ทุกบาท ทุกสตางค์ใช้จ่ายตามระเบียบ” นายบุญสงค์ กล่าว
นายบุญสงค์ กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลา 4 ปี อาจเพิ่มในช่วงเปลี่ยนผ่านเว็บแอพงบประมาณ 850 ล้านบาท
จากเดิมที่เราใช้ระบบทำด้วยมือ (Manual system) ต้องใช้การวอล์กอินเข้ามา เราต้องเปลี่ยนให้ผู้ประกันตน สะดวกขึ้น จ่ายหรือโอนเงินผ่านธนาคารได้เลย และเปลี่ยนระบบจากระบบ Sapiens เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ที่เราใช้มานานและต้องเช่าทุกปี เปลี่ยนมาเป็นระบบที่ สปส.จัดทำเอง รวมถึงส่วนหนึ่งที่มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และช่วงโควิด-19 ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนระบบงานของประกันสังคม อยู่ภายใต้การให้บริการผู้ประกันตน ให้เข้าถึงบริการได้รวดเร็ว โดยจะพัฒนาในด้านของ E-service ให้มากขึ้น และทำข้อมูลให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ เป็นระบบข้อมูล Sapiens แต่หากระบบที่กำลังดำเนินอยู่เสร็จสิ้นแล้ว ระบบ Data ของ สปส. จะสามารถให้บริการประชาชนเข้าถึงได้รวดเร็วมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านระบบหลังจาก 30 ปีที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตว่า สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม ไม่เท่าสิทธิบัตรทอง นายบุญสงค์ กล่าวว่า บอร์ดแพทย์ประกันสังคมได้พิจารณาทุกอย่าง เพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ประกันตน แต่อยากจะเรียนว่า การรักษาพยาบาลเป็นเพียงทางหนึ่งของสิทธิประโยชน์ประกันสังคม จากทั้งหมด 7 กรณีที่ผู้ประกันตนจะได้รับ (คลอดบุตร-สงเคราะห์บุตร-เจ็บป่วย-พิการ-ว่างงาน-เกษียณ-ตาย) โดยเจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคม ต้องการเฉลี่ยสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญเรื่องการจ่ายเงินสะสมในบั้นปลายชีวิต (บำเหน็จ-บำนาญ) เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ยืนยันว่าบอร์ดแพทย์ทำภายใต้กรอบกติกาที่กฎหมายกำหนด
โดยแต่ละการประชุม ทางบอร์ดแพทย์ จะนำเรื่องต่างๆ มาพิจารณาเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน แต่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม กับสิทธิบัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนละทิศทางกัน
สิทธิบัตรทอง จะดูเรื่องรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่สิทธิประกันสังคมดูแลทั้ง 7 กรณี ซึ่งจะต้องเฉลี่ยเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบออกไปในทุกๆ กรณี ปัจจุบัน การรักษาพยาบาลของประกันสังคมก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าสิทธิบัตรทองของ สปสช. เลย เราพิจารณาตามความเป็นจริง ตนกำลังให้ทาง สปส. เตรียมชี้แจงว่า หากจะเทียบเคียงสิทธิประกันสังคมกับสิทธิบัตรทองของ สปสช. แตกต่างอย่างไรบ้าง และให้ทางบอร์ดแพทย์ประกันสังคมได้ออกมาชี้แจงด้วย ซึ่งบอร์ดแพทย์ประกันสังคม มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝั่งนายจ้างและผู้ประกันตน นอกจากนี้ ในปี 2568 กำลังเตรียมการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในหลายๆ ด้านด้วย
เมื่อถามถึงกรณีการตั้งข้อสังเกตกำหนดการดูงานต่างประเทศอังกฤษ-สก็อตแลนด์ 1 สัปดาห์ ของบอร์ดแพทย์กองทุนประกันสังคมและผู้บริหาร แต่เป็นการไปดูงานเพียงแค่ 2 วัน นายบุญสงค์ กล่าวว่า อาจเป็นตารางร่างไว้เบื้องต้น เพื่อเสนอให้บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ เวลาไปดูจริง จะเป็นอีกตารางหนึ่ง แต่ตนเชื่อมั่นว่า ทุกครั้งที่ไปดูงานต่างประเทศ มีการดูงาน แม้แต่เวลาพักกินข้าวไปเรื่อยๆ เวลาที่จะพักผ่อนก็ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานที่และหน่วยงานที่จะไปดู ทั้งนี้ ทุกครั้งที่เดินทางไปดูงานกลับมา จะต้องเขียนรายงานและปฏิบัติ แต่จะขอให้ สปส. ออกมาชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
“เราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและผม รวมถึงเจ้าหน้าที่พร้อมชี้แจง ผมทำงานด้วยเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน เราไม่ได้มีประโยชน์อื่นใดเข้ามาแอบแฝง และทำภายใต้กฎหมายกำหนด หากจะมีการตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ก็พร้อมที่จะชี้แจงรายละเอียด” นายบุญสงค์ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โฆษกกระทรวงแรงงาน สวน “ไอซ์ รักชนก” ร้อนรนเอง กลัวเสียหน้า
- สส.ไอซ์ แฉงบประกันสังคม ไฟเขียว 7 พันล้านซื้อตึกร้าง ช่วยใครหรือไม่?
- รักชนก แฉ 3 ประเด็นใหญ่ สำนักงานประกันสังคม พิรุธงบร้อยล้าน