การเงินเศรษฐกิจ

ศาลพิพากษา เอกลาภ ยิ้มวิไล อดีตผู้บริหาร Zipmex จำคุก 5 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชน

ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา เอกลาภ ยิ้มวิไล อดีตผู้บริหาร Zipmex จำคุก 5 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชน ส่วนบริษัทฯ ถูกปรับ 100,000 บาท

วันนี้ (17 ก.พ.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาคดีของผู้เสียรายหนึ่งที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) จำเลยที่ 1 ซึ่งเคยเป็นผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่นิยม-โด่งดังมากที่สุดของประเทศไทย และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล จำเลยที่ 2 ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตกรรมการ-ผู้บริหาร บริษัทฯ

Advertisements

ต่อมาหลังศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานเรียบร้อย จึงมีคำพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

พิพากษาลงโทษปรับบริษัทฯ เป็นเงิน 100,000 บาท และลงโทษจำคุกนายเอกลาภ ยิ้มวิไล เป็นเวลา 5 ปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง ทั้งนี้คำพิพากษาดังกล่าวไม่มีการระบุว่าเป็นการลงโทษรอลงอาญาหรือไม่ ซึ่งจำเลยอาจอยู่ในช่วงการสิทธิประกันตัว

นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ถูกจำคุก 5 ปี

นายกิจจา จงขวัญยืน ตัวแทนผู้เสียหายกลุ่ม “ร่วมสู้ Zipmex” กล่าวให้ความเห็นหลังส่งทีมกฎหมายเข้าฟังคำพิพากษาว่า ขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ลุกขึ้นสู้กับคนที่มีพวกพ้องอำนาจใหญ่โต รวมถึงขอบคุณเพื่อนผู้เสียหาย-ทีมทนาย ที่เสียสละเดินหน้าฟ้องคดีอาญาจนเกิดความคืบหน้าในวันนี้

ปัจจุบันมีผู้เสียหายรวมตัวกันกว่า 700 ราย มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และทางกลุ่มได้ร่วมมือยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มทั้งหมด 22 รายทั้งในและนอกประเทศเพื่อเรียกค่าเสียเป็นการลงโทษรวมไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท

ขณะที่ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมาย VLA และรับมอบอำนาจโจทก์ฯ ยื่นฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่ม ระบุว่า คดีนี้มีประชาชนเสียหายนับหมื่นราย ทว่าเรื่องผ่านมาเกือบสามปีกลับต้องให้ประชาชนไปแบกภาระยื่นฟ้องคดีอาญาเองจนชนะคดี ซึ่งเป็นคดีเฉพาะราย

Advertisements

ตนจึงอยากให้ภาครัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งดำเนินคดีอาญาแผ่นดินเอาผิดผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้มีแค่สองราย พร้อมเรียกความเป็นธรรมให้ผู้เสียหายทุกคนโดยเร็วที่สุด

ภาพจาก วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

“เรามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศร่วมมือกันหลอกลวงประชาชนให้หลงเข้าใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าซิปเม็กซ์ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย และไม่มีการนำไปใช้ในทางที่เสี่ยง

แต่แท้จริงกลับนำสินทรัพย์ของผู้เสียหายไปใช้ในการกู้ยืมเงินในต่างประเทศโดยผิดกฎหมายเพื่อหวังกอบโกยประโยชน์ทางธุรกิจของพวกพ้อง จนลูกค้ากว่าหมื่นรายเสียหายร้ายแรง ผู้เกี่ยวข้องรายใดที่สำนึกผิด ขอให้รีบแสดงความจริงใจช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เร็วที่สุด” นายวีรพัฒน์ ระบุ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button