กรมอุตุนิยมวิทยา คาด ฤดูร้อน 2568 เริ่ม ปลาย ก.พ. ร้อนสุด 43 องศา
เตรียมตัว! กรมอุตุนิยมวิทยา คาด ฤดูร้อน 2568 เริ่ม ปลาย ก.พ. จนไปถึงกลางเดือน พ.ค. อากาศร้อนสุด 42-43 องศา มีพายุฤดูร้อนเป็นระยะๆ
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาประกาศว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนประจำปี 2568 ช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2568
ลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงต้นและกลางเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุม
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ แต่จะมีกำลังอ่อน ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงกลางเดือนเมษายน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 42 – 43 องศาเซลเซียส และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง ส่วนในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆ กับมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ภาคใต้ ช่วงเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
จากนั้นจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตรียมกลับสภาพเดิม 14 ม.ค.นี้ อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น ฤดูหนาวอาจสิ้นสุดเร็ว ๆ นี้
- คนไทยหนาวปากสั่น กรมอุตุเตือน อุณหภูมิจะลดลงอีก ถึงปลายเดือน ม.ค.
- ศกพ. เตือน 7-8 ก.พ. ตอนเช้า สภาพอากาศขมุกขมัว ทัศนวิสัยลดลง