ข่าว

ประวัติ พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ หญิงแกร่งวงการสื่อ

เปิดประวัติ ‘ดร.พิรงรอง รามสูต’ หรือ ‘อาจารย์ขวัญ’ กรรมการกสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เจอมรสุมหนัก คดีทรูดิจิทัล ฟ้อง ปมแทรกโฆษณาทรูไอดี หากผิดจริง หลุดตำแหน่งทันที

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ ‘บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด’ ฟ้องศาสตราจารย์กิตติคุณ ‘ดร.พิรงรอง รามสูต’ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เนื่องจากได้ออกหนังสือเตือนโฆษณาแทรกในทรูไอดี ทำให้ทางบริษัทได้รับความเสียหาย และอาจส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ ระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางบริการของตน

Advertisements

หากศาลตัดสินว่า ดร.พิรงรอง มีความผิดจริง และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างรออุทธรณ์ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่ง กรรมการ กสทช. ทันทีตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 (6) และ (7) อย่างไรก็ตาม คดีนี้เกี่ยวข้องกับมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากที่ได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ ดร.พิรงรอง รามสูต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันนี้ทีมงาน The Thaiger จะพาทุกท่านไปรู้เจจักประวัจติ พร้อมเจาะลึกเบื้องหลังความเป็นมาของหญิงแกร่งมากความสามารถ ผู้ขับเคลื่อนสื่อโทรทัศน์ไทนในยุคดิจิทัล

ดร.พิรงรอง รามสูต
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota

ประวัติ พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช. ด้านโทรทัศน์ ผู้ผลักดันสื่อท้องถิ่น

‘ดร.พิรงรอง รามสูต’ หรือ ‘อาจารย์ขวัญ’ เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2510 เป็นบุตรสาวของศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์ ธีระ รามสูต หรือ ‘อาจารย์ขวัญ’ อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค และ รองปลัดกระทรวง. สาธารณสุข และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พันธุ์ทิพย์ รามสูต มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ได้แก่ พี่ชายคนโต คือ ศาสตราจารย์ดร. พงษ์ราม รามสูต หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม และ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางแอนติบอดี้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 2563 ส่วนพี่ชายคนกลาง คือ นายแพทย์พชร รามสูต แพทย์อิสระด้านโรคผิวหนังและเลเซอร์ผิวหนัง

เธอจบการศึกษาจากเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นศึกษาจากอักษรศาสตรบัณฑิต ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ต่อมาเธอได้เริ่มก้าวเข้าสู่วงการสื่อ ด้วยการทำงานครั้งแรกที่หนึ่งหนังสือพิมพ์ The Nation ในปี 2532 ทำให้เธอเริ่มสนใจเรื่องสื่อสารมวลชนมากขึ้น และเข้าศึกษาต่อปริญญาโทM.A. (Communication) University of Hawaii at Manoa ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกที่Ph.D. (Communication) Simon Fraser University ประเทศแคนาดา

Advertisements
ดร.พิรงรอง รามสูต - 7
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota

เส้นทางการทำงานในบทบาทของสื่อมวลชน

พิรงรอง รามสูต ได้เข้าทำงานในตำแหน่ง อาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2535 ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย เธอได้รับรองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล ตำแหน่งบริหารจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2559 – 2563

ต่อมาเส้นทางการทำงานของเธอยังคงเติบโตในด้านสื่อมวลชน เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการทั้งรายการและเนื้อหา ดูแลโดยตรวจสอบเนื้อหารายการโทรทัศน์และสื่อ ของ กสทช. ก่อนที่จะลาออกจากงานเดิม

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง ในฐานะ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ พยายามพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสื่อ ด้วยการผลักดันให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการส่งเสริมการผลิตรายการคุณภาพโดยเฉพาะประเภทรายการที่กำลังเลือนหายไปจากผังโทรทัศน์ไทย เช่น รายการสำหรับเด็ก รายการสะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่น และรายการที่ส่งเสริมความหลากหลายของสังคม

ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังต้องการผลักดันให้สื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ที่สำคัญ เพื่อเป็นกลไกการกำกับดูแลกันเองตามมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชนซึ่งเป็นบทบาทที่สำนักงาน กสทช. คาดหวังให้ส่งเสริม

ดร.พิรงรอง รามสูต - 5
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota

ย้อนคดี ‘ทรู’ ฟ้อง ‘พิรงรอง รามสูต’ ปมแทรกโฆษณา ทรูไอดี

ย้อนกลับไปในปี 2566 เหตุเกิดจากผู้บริโภคได้ร้องเรียน ในกรณีทรูไอดีแทรกโฆษณาในช่องทีวีดิจิทัล ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยทรูดิจิทัล ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ดึงสัญญาณของช่องเหล่านี้มาออกอากาศบนแพลตฟอร์ม

ด้านคณะอนุกรรมการ ได้พิจารณาอนุญาตให้กิจการโทรทัศน์ของ กสทช. ตรวจสอบ และเสนอความเห็น กระทั่งนำไปสู่การ ที่สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ให้ทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตที่กำหนดให้ช่องรายการของตนจะต้องออกอากาศผ่านผู้รับใบอนุญาตโครงข่ายจาก กสทช.เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกฎมัสต์ แคร์รี่ (must carry) โดยต้องไม่มีการแทรกเนื้อหาใด ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังสือแจ้งเตือนจะไม่ได้สื่อถึงบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เนื่องจากไม่ได้อยู่ใต้การกำกับดูแลของ กสทช. โดยตรง แต่ทางบริษัทมองว่าคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบกับอาจทำให้ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทางบริการของตน เป็นเหตุของการฟ้องร้อง

ดร.พิรงรอง รามสูต
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota

ทางบริษัทมองว่า สำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over the TOP) หรือการให้บริการเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต จึงไม่ต้องรับใบอนุญาตจาก กสทช. เหมือน IPTV

อย่างไรก็ดี ดร.พิรงรอง รามสูต ยืนยันว่าการทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แทรกโฆษณาในช่องรายการทีวีดิจิทัลที่นำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีข้อร้องเรียนเข้ามายังคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. เป็นการดูแลลิขสิทธิ์ในเนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัลให้เกิดการแข่งขันเสรี และเป็นธรรมมาโดยตลอด

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2567 บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ดร.พิรงรองยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าวโดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง

พิรงรอง รามสูต
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota
ดร.พิรงรอง รามสูต - 3
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota
ดร.พิรงรอง รามสูต - 6
ภาพจาก Facebook : Pirongrong Ramasoota

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button