ธนาคารกรุงเทพ แจ้งเตือน ผู้ใช้โมบายแบงก์กิ้ง Bangkok Bank ชื่อต้องตรงกับซิมมือถือ แนะนำวิธีเช็กง่าย ๆ รู้ผลทันที พร้อมขั้นตอนแก้ไขหากชื่อไม่ตรง เพื่อใช้งานได้ต่อเนื่อง
ความคืบหน้ามาตรการยกระดับความปลอดภัยการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยธนาคารกรุงเทพกำหนดให้ผู้ใช้งานต้องมีชื่อบัญชี ‘โมบายแบงก์กิ้ง’ ตรงกันกับ ‘ชื่อเจ้าของซิม’ โดยธนาคารจะแจ้งไปยังกลุ่มที่ต้องดำเนินการผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง Bangkok Bank ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เน้นย้ำว่าไม่มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS อย่างเด็ดขาด
สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือน ยังไม่ต้องดำเนินการแต่อย่างใดและสามารถใช้งานโมบายแบงก์กิ้งได้ตามปกติ
วิธีตรวจสอบด้วยตัวเองว่าเบอร์ที่ใช้อยู่ ชื่อตรงกันหรือไม่
ลูกค้าธนาคารกรุงเทพที่ต้องการตรวจสอบว่าชื่อบัญชีโมบายแบงก์กิ้งตรงกันกับชื่อเจ้าของซิมการ์ดมือถือหรือไม่ สามารถทำได้โดยการ ‘กด *179* หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของตนเอง #’ จากนั้นกดโทรออก ระบบจะว่าข้อมูลตรงกันหรือไม่ ดังนี้
- ตัวอย่างข้อความที่ได้รับหากชื่อตรงกัน ‘XXXXXXXXXXXXX ตรงกับ OX-XXX-XXXX ตรวจสอบ DD/MM/YY HH:MM’ ยังไม่ต้องดําเนินการใด ๆ
- ตัวอย่างข้อความที่ได้รับหาก ชื่อไม่ตรงกัน ‘XXXXXXXXXXXXX ไม่ตรงกับ OX-XXX-XXXX ตรวจสอบ DD/MM/YY HH:MM’ ดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ชื่อเบอร์มือถือ กับ ชื่อบัญชีที่ใช้โมบายแบงก์กิ้ง ไม่ตรงกัน แก้ไขอย่างไร?
สำหรับท่านที่ที่ตรวจสอบแล้วพบว่าชื่อบัญชีที่ใช้โมบายแบงก์กิ้งและชื่อเบอร์มือถือไม่ตรงกัน สามารถแก้ไขได้ 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อเปลี่ยนชื่อเจ้าของเบอร์ให้ตรงกับชื่อบัญชีที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง
วิธีที่ 2 ติดต่อธนาคารที่ใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง เพื่อเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งให้ชื่อตรงกัน
ทั้งนี้ ขอให้ลูกค้าดําเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 หากไม่ดําเนินการภายในกําหนด บริการโมบายแบงก์กิ้งอาจถูกระงับการใช้งาน
เช็ก 3 กลุ่ม ได้รับการยกเว้นมาตรการ มีใครบ้าง?
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคาร แจง 3 กลุ่มเป้าหมายผู้ที่ได้รับการยกเว้นจากมาตรการนี้ ได้แก่ ครอบครัว, ผู้ที่ต้องได้รับความดูแลตามกฎหมาย และ นิติบุคคล โดยต้องเตรียมเอกสารยืนยันตามสถานที่ที่กำหนด
1. ครอบครัว ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย และคู่สมรส (จดทะเบียน) โดยจะต้องแสดงเอกสาร แสดงความสัมพันธ์ต่อธนาคาร ได้แก่ เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานทางการไทยหรือรัฐ ที่ประเทศนั้นออกให้ เช่น ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ทะเบียนสมรส และเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ เบอร์โทรศัพท์ เช่น ใบกํากับภาษี ใบเสร็จค่าโทรศัพท์
2. ผู้ที่ต้องได้รับความดูแลตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ และผู้พิการ 2 โดยจะต้องแสดงเอกสารต่อธนาคาร ได้แก่ เอกสารตามคําสั่งศาล และบัตรผู้พิการ หรือเอกสารที่หน่วยงานราชการออกให้ หรือเอกสารที่รับรองโดยทางการ
3. นิติบุคคล ได้แก่ บริษัท หน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลอื่นตามกฎหมาย (กรณีที่เบอร์โทรศัพท์ 3 มือถือลงทะเบียนในนามนิติบุคคล และให้บุคลากรของนิติบุคคลใช้) โดยจะต้องแสดงเอกสารต่อธนาคาร ได้แก่ หนังสือรับรองจากนิติบุคคล ที่มีข้อความระบุชื่อบุคลากร เบอร์โทรศัพท์ และ อนุญาตให้ใช้เบอร์โทรศัพท์
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- ไทยพาณิชย์ ย้ำ โมบายแบงค์กิ้งชื่อไม่ตรงซิม แก้ไขทำตามนี้ ก่อน 30 เม.ษ. 68
- กรุงไทยแนะวิธีแก้ไข โมบายแบงค์กิ้งไม่ตรงกับซิมมือถือ ก่อนถูกระงับใช้งาน
- เริ่ม 17 ก.พ. กสิกรไทย แจ้ง 2 เงื่อนไข ลูกค้าโมบายแบงก์กิ้ง ชื่อ-เบอร์โทร ไม่ตรงกัน