อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

ประวัติ วัดคณิกาผล จากโรงยายแฟง สู่แลนด์มาร์คขอสเน่ห์ ความรัก

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ‘วัดคณิกาผล’ วัดแห่งความเชื่อและศรัทธาที่สร้างจากบารมีของยายแฟง

บทความนี้จะพาทุกท่านย้อนรอยประวัติศาสตร์ “วัดคณิกาผล” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดใหม่ยายแฟง” ซึ่งกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังละคร “คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 และได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม โดยในตอนที่ 2 ซึ่งออกอากาศวันถัดมา สามารถติดเทรนด์ X ประเทศไทยอันดับ 4 ด้วยฉากไวรัลที่ตัวตึงโรงแม่แฟง นำแสดงโดย โบว์ เมลดา ปะทะคารมกันอย่างดุเดือดกับฝั่งผู้รากมากดี เพื่อปกป้องแม่แฟง รับบทโดยนักแสดงรุ่นใหญ่ จอย รินลนี

Advertisements

เป็นแม่เล้าสร้างวัด ทำไมจะไม่ได้

เมื่อพูดถึง “วัดคณิกาผล” วัดเก่าแก่อายุยาวนานกว่า 192 ปี ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจพลับพลาชัย ภาพจำแรกที่มักผุดขึ้นมาในใจของหลายคนคือคำกล่าวที่ว่า “แม่เล้าสร้างวัด” ความแปลกนี้ทำให้วัดแห่งนี้แตกต่างและเต็มไปด้วยเสน่ห์ของเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

แต่หากย้อนมองภาพรวมของวัดในประเทศไทย คำพูดของคนโบราณว่า “สร้างวัดให้ลูกหลานวิ่ง” ก็สะท้อนอีกมุมหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งวัดมักเกิดจากแรงศรัทธาของเหล่าเศรษฐีที่ต้องการสร้างบุญใหญ่ให้ลูกหลานได้เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี

สองแง่มุมนี้ชวนให้ครุ่นคิดถึงบทบาทของผู้สร้างวัด ซึ่งต่างเติมเต็มมรดกศาสนาในรูปแบบที่หลากหลายและทรงคุณค่าในประวัติศาสตร์ไทย

ประตูวัดคณิกาผลตอนกลางคืน
ภาพโดย จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม

จากโรงยายแฟง สู่วัดงามแห่งย่านพลับพลาไชย

วัดคณิกาผล เป็นวัดราษฎร์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วัดแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะชื่อวัดที่แปลว่า “ผลจากหญิงงามเมือง” หรือหญิงโสเภณี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ทางสังคมในยุคสมัยนั้น

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดย “ยายแฟง” หรือ “ย่าแฟง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติในสังคมไทยสมัยก่อน ที่วัดแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นโดยผู้หญิง และยิ่งไปกว่านั้นคือผู้หญิงที่ประกอบอาชีพเป็นโสเภณี

Advertisements

เดิมทีวัดแห่งนี้ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ลูกหลานยายแฟงได้บูรณะวัดและขอพระราชทานนามวัดใหม่จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งแปลว่า “วัดที่สร้างขึ้นจากผลประโยชน์ของนางคณิกา” หรือหญิงงามเมือง

ประวัติวัดคณิกาผล (เรียงตามไทม์ไลน์)

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2376 ยายแฟง เจ้าของสำนักโสเภณีชื่อ ‘โรงยายแฟง’ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตรอกเต๊า ถนนเยาวราช (ปัจจุบันคือซอยเจริญกรุง 14) ได้ชักชวนหญิงโสเภณีในสำนักของตน นำรายได้จากการค้าประเวณี มาร่วมกันสร้างวัดขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2400 (สมัยรัชกาลที่ 4) ลูกหลานยายแฟงได้บูรณะวัด และขอพระราชทานนามวัดใหม่จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งแปลว่า “วัดที่สร้างขึ้นจากผลประโยชน์ของนางคณิกา”

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2449 พระสงฆ์วัดคณิกาผลได้ใช้ศาลาและกุฏิพระ เป็นที่เล่าเรียนและสอนหนังสือให้เด็กในชุมชน ต่อมาจึงได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ “โรงเรียนวัดคณิกาผล”

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 มีการสร้างอาคารย่าแฟง เป็นซุ้มเล็ก ๆ ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งรูปหล่อครึ่งตัวของยายแฟง ผู้สร้างวัด

อุโบสถวัดคณิกาผล
ภาพโดย จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม

สถาปัตยกรรมและความงดงามด้านพุทธศิลป์

วัดคณิกาผลมีอายุเก่าแก่กว่า 192 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2376 ในปัจจุบันยังคงมีสิ่งก่อสร้างดั้งเดิมหลงเหลืออยู่หลายอย่าง เช่น พระประธาน พระอุโบสถ พระวิหาร พระปรางค์เล็ก 1 องค์ ระเบียง หอระฆังก่ออิฐถือปูนแบบเก่า หลังคาประดับลายปูนปั้นเขียนสี และตู้ลายรดน้ำของเก่าหลายใบ ซึ่งมีพื้นลายกนกเปลว เขียนเรื่องรามเกียรติ์

เริ่มกันที่พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยโบราณ ภายนอกดูเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความวิจิตรของลวดลายไทย ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อทองคำ” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เป็นพระประธาน

ถัดไปคือพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์ดำ” พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันมีการปิดทองจนเป็นสีทองอร่าม ภายในพระวิหารยังเป็นที่ตั้งของรูปหล่อย่าแฟงเต็มตัวอีกด้วย

เมื่อเดินเข้าไปด้านในตัววัดจะพบกับอาคารย่าแฟงเป็นซุ้มเล็ก ๆ ทางขวามือ ด้านหลังพระอุโบสถ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2523 เป็นที่ตั้งรูปหล่อครึ่งตัวของยายแฟง ผู้สร้างวัด

นอกจากนี้ยังมีหอระฆังหอระฆังก่ออิฐถือปูนแบบเก่า หลังคาประดับลายปูนปั้นเขียนสี ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ

ไม่เพียงเท่านี้ ภายในวัดยังพบตู้ลายรดน้ำ ซึ่งเป็นตู้ลายรดน้ำของเก่าหลายใบ มีพื้นลายกนกเปลว เขียนเรื่องรามเกียรติ์

สุดท้ายนี้ ถัดจาดหัวมุมที่จะเลี้ยวไปทางหอย่าแฟง ใต้หอระฆังจะมีทางเดินเล็ก ๆ เข้าไปยังศาลฮั่วน้อยม่า ซึ่งฮั่วน้อยม่า คือร่างผู้หญิงที่ถูกขุดพบโครงกระดูกในขณะก่อสร้างวัด เป็นที่นิยมของผู้คนโดยเฉพาะคอหวยที่มักมาขอพร

พระในวัดคณิกาผล
ภาพโดย จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม

ดราม่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อวัดสร้างเสร็จ ยายแฟงได้นิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือ “สมเด็จโต” มาเทศน์ฉลองวัด แต่แทนที่ยายแฟงจะได้รับคำสรรเสริญ สมเด็จโตกลับเทศนาสั่งสอนยายแฟงด้วยความตรงไปตรงมา โดยกล่าวว่า การทำบุญด้วยเจตนาหวังเอาหน้า แม้จะเป็นบุญใหญ่ ก็ให้ผลเพียงเล็กน้อย อีกทั้งเงินที่ได้มาจากการค้าประเวณี ซึ่งเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ ย่อมทำให้บุญที่ได้ไม่เต็มที่

เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับความหมายของการทำบุญในพระพุทธศาสนา แม้ว่าเงินที่นำมาสร้างวัดจะได้มาจากการค้าประเวณี ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกัน ยายแฟงก็มีเจตนาที่ดีในการสร้างวัดเพื่อเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน

พระพุทธศาสนาสอนว่า การทำบุญนั้นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา และการทำบุญด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ย่อมส่งผลบุญที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำบุญด้วยเจตนาอื่น

แมวในวัดคริกาผล
ภาพโดย จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม

บารมีย่าแฟงในปี 2025

บารมีย่าแฟงในปี 2025 ยังคงเป็นที่พูดถึงและนับถือในวงกว้าง แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องราวของย่าแฟงผู้เป็นทั้งแม่และผู้ดูแลปกครองคนมากมาย ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนเสมอมา

ปัจจุบัน วัดคณิกาผล หรือวัดใหม่ยายแฟง ยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้คนมากมายมาไหว้ขอพร โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก คู่ครองที่ดี โชคลาภ และเรื่องงาน

ภายในวัดยังมีรูปหล่อครึ่งตัวของยายแฟง ผู้สร้างวัด ซึ่งผู้คนต่างนิยมไปกราบไหว้ขอพรจากท่าน นอกจากชื่อเสียงของย่าแฟงในหมู่ผู้หญิงทำงานกลางคืนแล้ว ยังมีผู้ที่ทำงานในสายธุรกิจเอ็นเตอร์เทรน ค้าขาย และบันเทิง รวมถึงคนที่ต้องใช้หน้าตาและคำพูดในอาชีพต่าง ๆ มาร่วมกราบไหว้ท่าน

ภาพโดย จุลเกียรติ ไพบูลย์เกษม

โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ ที่มีความเชื่อว่า การขอพรจากย่าแฟงจะสัมฤทธิ์ผลได้หากทำบุญไหว้พระในวัดก่อน จากนั้นจึงค่อยไปขอพรจากท่าน ผู้คนมักจะซื้อชุดถวายของย่าแฟงจากทางวัด ซึ่งประกอบด้วย ธูป 9 ดอก พวงมาลัย 1 พวง และขนมหวานโบราณ หรือสามารถนำของมาถวายเองก็ได้

ผู้ที่มาไหว้ย่าแฟงส่วนใหญ่ มักจะมาที่วัดในช่วงกลางดึก แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะคิดว่าว่าบริเวณวัดอาจดูเป็นสถานที่น่ากลัวและวังเวง แต่ก็ไม่สามารถสู้พลังและความศรัทธาของผู้มาขอพรได้

การแก้บนย่าแฟงมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การนำดอกไม้ เครื่องสำอางค์ หรือเครื่องประดับไปไหว้ ไปจนถึงการแก้บนด้วยการรำ การเต้น หรือการร้องเพลง

อย่างไรก็ตาม ศาลาย่าแฟงมีการปรับเปลี่ยนจุดการไหว้และการจุดธูป รวมถึงอาจมีการปรับเวลาเปิดปิดวัดในบางช่วง ซึ่งผู้มาศรัทธาควรติดตามการอัปเดตหรือสอบถามจากผู้ดูแลวัดเพื่อความสะดวกในการเข้ากราบไหว้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button