ข่าวการเมือง

นายกฯ เปิดทำเนียบรัฐบาล ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ “สมรสเท่าเทียม” ทั่วโลกชื่นชม

แพทองธาร นายกรัฐมนตรีเปิดทำเนียบรัฐบาล ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ “สมรสเท่าเทียม” ทั่วโลกชื่นชมธงสีรุ้งปักลงบนประเทศไทยอย่างภาคภูมิ บังคับใช้กฏหมาย 23 ม.ค.นี้ ยกระดับประเทศสู่การเป็น LGBTQ+ Global Destination กระตุ้นการท่องเที่ยว

วานนี้ (15 ม.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมบันทึกภาพเนื่องในโอกาสประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งเอกอัครราชทูตและผู้แทนต่างประเทศ

Advertisements

อาทิ นาย Mark Gooding OBE เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นาย Jean-Claude Poimboeuf เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นาย Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนางสาว Michaela Friberg-storey ผู้ประสานงานสหประชาชาติ พร้อมด้วยผู้แทนคู่รัก LGBTQ+ ร่วมถ่ายภาพฉลองความสำเร็จของกฎหมายดังกล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า การถ่ายภาพฉลองความสำเร็จกฎหมายสมรสเท่าเทียมวันนี้ ถือเป็นการประกาศประวัติศาสตร์ความรักที่เท่าเทียมและยังเป็นการบันทึกความก้าวหน้าของประเทศไทยที่มีกฎหมายการสมรสเท่าเทียมแห่งแรกของอาเซียน และประเทศที่ 3 ของเอเชีย ส่งผลให้คนทั่วโลกรับทราบว่า รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศในสังคม และจะขับเคลื่อนการพัฒนาภาพลักษณ์ทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น LGBTQ+ Global Destination ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายจิรายุกล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จาก กม.สมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย” และสถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

“ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งสิทธิการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย เป็นต้น ปัจจุบันนายทะเบียน 878 อำเภอทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร พร้อมอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม” จิรายุ กล่าว.

ภาพประวัติศาสตร์สมรสเท่าเทียม รัฐบาลไทย
ภาพ @รัฐบาลไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Advertisements

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button