ข่าวการเมือง

อาลัย นิลฉวี ภรรยาส.ศิวรักษ์ เสียชีวิตแล้ว สิริอายุ 89 ปี เปิดกำหนดการพิธีศพ

อาลัย นิลฉวี ศิวรักษ์ ภรรยาของส.ศิวรักษ์ เสียชีวิตแล้ว เปิดกำหนดการสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจศพ 3-5 มกราคม 2568 ณ ศาลา 5 วัดทองนพคุณ

วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียน-นักวิชาการเจ้าของนามปากกา “ส.ศิวรักษ์” ออกมาแจ้งข่าวเศร้าที่ต้องสูญเสีย นิลฉวี ศิวรักษ์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 89 ปี พร้อมกับลงกำหนดสวดพระอภิธรรม ในวันที่ 3-5 มกราคม 2568 ณ ศาลา 5 วัดทองนพคุณ และมีกำหนดประชุมเพลิงในวันที่ 6 มกราคม 2568 ที่ เมรุวัดทองนพคุณ

Advertisements

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากที่ศิวรักษ์เคยเล่าไว้ในหนังสือชีวประวัติ “ช่วงแห่งชีวิต” แล้วนำมาเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก @Sulak Sivaraksa ระบุ คุณนิลฉวี เกิดเมื่อ 27 พฤษภาคม 2479 เป็นชาวจังหวัดอุทัยธานี สกุลเดิม “พัฒโนทัย” สมรสกับสุลักษณ์ มาตั้งแต่ พ.ศ.2507 โดยมีพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เป็นเจ้าภาพงานแต่งงาน ที่วังถนนเพชรบุรีของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร วันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 และมีพระยาอนุมานราชธน เป็นผู้ปูที่นอนให้กับคู่บ่าวสาว ที่เรือนไทยซอยสุขุมวิท 81 ถนน โดยมีบุตรเป็นชาย 1 คน เป็นหญิง 2 คน

กำหนดสวดอภิธรรม นิลฉวี ภรรยาสุลักษ์ ศิวรักษ์
แฟ้มภาพ

ทั้งนี้ บนบัญชีโซเชียลของส.ศิวรักษ์ มีการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นสมัยที่เคยถ่ายรูปคู่ร่วมกันเมื่อครั้งอดีต รวมถึงเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับประโยคหรือคำพูดติดปากของภรรยาที่จากไป อาทิ

“ปรกติดิฉันเป็นคนขี้อายมากเลย เข้ากับคนยาก มีคนมาชอบที วิ่งหนีเลย รู้สึกไม่ค่อยชอบพูดกับใคร ทีนี้พบคุณสุลักษณ์ มารู้จัก ก็รู้สึกสนิทสนมกันได้ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับว่ารู้จักกันมานาน ทั้ง ๆ ที่รู้จักกันไม่นาน ก็เลยตัดสินใจแต่งงาน” นิลฉวี ศิวรักษ์

อาลัยป้านิล นิลฉวี ศิวรักษ์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส ศิวรักษ์
แฟ้มภาพ @sulak.sivaraksa

ถาม : อาจารย์ทำอย่างไรถึงทำให้คุณนิลฉวียอมแต่งงานด้วย

ส.ศ.ษ. : มันเป็นบุพเพสันนิวาส

Advertisements

ถาม : อาจารย์เชื่อหรือ

ส.ศ.ษ. : ไม่เชื่อได้อย่างไร

ถาม: แล้วอาจารย์มาสรุปตอนไหนว่าเป็นบุพเพสันนิวาส

ส.ศ.ษ. : คุณต้องอ่านดี ๆ นะ ในคาถาเขาบอกไว้ บุพเพสันนิวาสนี่มันเป็นส่วนหนึ่งที่เกื้อกูลอดีต ต้องอุปการะรักใคร่ซึ่งกันและกัน ถึงจะยืดเยื้อออกไป แต่ไม่ใช่กรณีเดียว ต้องมีอดีตที่เกื้อกูลปัจจุบัน แล้วปัจจุบันต้องมาเกื้อกูลในเวลานี้และอนาคตด้วย แต่ว่าคนมีบุพเพสันนิวาสมาแล้ว มาทะเลาะเบาะแว้งกันก็ต้องแยกกันไป ท่านบอกเปรียบเสมือนดอกบัวต้องขึ้นมาจากตมและน้ำ แล้วก็ปราศจากปลา เต่า ถึงจะพ้นน้ำได้ ชีวิตครอบครัวก็เช่นเดียวกัน เกิดจากอดีต อาศัยปัจจุบันหล่อเลี้ยง หล่อเลี้ยงดีก็ยืดเยื้อ มีความรัก มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน อดทนซึ่งกันและกัน ก็ตลอดรอดฝั่ง คตินี้เชื่อกันแทบทุกแห่ง ที่นี่ก็มีเยอะ (จากหนังสือ “สอดสร้อยมาลา ศิวาลังการ” (2554) หน้า 142 และ 132-133).

แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button