การเงินเศรษฐกิจ

เงื่อนไข Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 สูงสุด 50000 บาท ช้อปอะไรได้บ้าง

เช็กเงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0 ปี 2568 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท เริ่มช้อป 16 ม.ค. – 28 ก.พ. 68 สินค้า-บริการใดเข้าร่วมโครงการบ้าง ย้ำชัดต้องมีใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice/e-Receipt)

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีประกาศข่าวดีแจกของขวัญรับปีใหม่ อนุมัติโครงการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 กำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าและบริการในประเทศ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น ระหว่างวันที่ 16 ม.ค. – 28 ก.พ. 2568 มาตรการนี้ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล

Advertisements

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าผลตอบรับจากโครงการลดหย่อนภาษีในช่วงต้นปี 2567 เป็นไปได้ด้วยดีจึงต้องการจะเดินหน้าโครงการต่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น รวมทั้งระดับประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์การใช้จ่าย ‘Easy E-Receipt 2.0’ ในปี 2568 ไว้ดังนี้

เปิดเงื่อนไข Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี ปี 2568

1. หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท ดังนี้

1.1 หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน และ

1.2 หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน

(1) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

Advertisements

(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร

(3) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1.1 จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตามข้อ 1.2 ก็ได้

ตรวจสอบเงื่อนไข Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี ปี 2568

เกณฑ์การใช้จ่ายสินค้าที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในกรณีที่สินค้าหรือบริการที่ซื้อนั้นไม่ได้มาจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประชาชนสามารถเช็กได้ว่าสินค้าใดเข้าเกณฑ์ที่จะนำไปปลดหย่อนภาษีได้บ้าง

1. ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร

2. ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)

3. ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

4. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร

5. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ร่วมโครงการลดหย่อนภาษีปี 2568

สินค้า-บริการใด ไม่เข้าร่วม Easy E-Receipt 2.0 บ้าง

กระทรวงการคลังได้กำหนดประเภทของสินค้า และบริการที่ไม่เข้าร่วมโครงการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ค่าที่พักโรงแรม, ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

2. ค่าซื้อยาสูบ

3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ

4. ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ

5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ

7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

การซื้อรถยนต์ไม่เข้าร่วม Easy E-Receipt 2.0

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่นำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้

การนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไปยื่นเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2568 ต้องเตรียม ‘e-Tax Invoice’ และ ‘e-Receipt’ ที่ระบุชื่อ-นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ สำหรับผู้เสียภาษีและร้านค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

ข้อมูลจาก : thaigov

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button