รัสเซียทำสำเร็จ พัฒนาวัคซีนต้านมะเร็ง แจกฟรีให้ประชาชน ต้นปี 68
รัสเซียอ้าง ทำสำเร็จ พัฒนาวัคซีน mRNA ต้านมะเร็ง แจกฟรีให้ประชาชน ต้นปี 2568 นักวิทย์ฯ ชี้ใช้ AI ช่วยวิจัยเร็วขึ้น
วันนี้ 19 ธันวาคม TASS สำนักข่าวของรัฐบาลรัสเซีย รายงานว่า รัสเซียได้ออกมาประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านมะเร็งชนิด mRNA จะพร้อมแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกคนฟรี ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป
วัคซีน mRNA คือ วัคซีนที่ใช้สารพันธุกรรมที่เรียกว่า เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (mRNA) สังเคราะห์ มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคล่าสุด นักวิทยาศาสตร์รัสเซียได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งจะถูกแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
อังเดรย์ คาพริน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางการแพทย์ด้านรังสีวิทยา สังกัดกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย ยืนยันเรื่องนี้ ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ Radio Rossiya เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ อเล็กซานเดอร์ กินต์สเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาเลยา ได้เปิดเผยกับสำนักข่าว TASS ว่า การทดลองในระยะก่อนคลินิกของวัคซีนมะเร็งนี้ แสดงให้เห็นว่าตัววัคซีนสามารถยับยั้งการพัฒนาของเนื้องอกและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้
วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล เป็นไปได้จริงหรือ?
กินต์สเบิร์ก ยังกล่าวอีกว่า การใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) หรือ AI จะช่วยลดระยะเวลาในการคำนวณเพื่อสร้างวัคซีนมะเร็งแบบเฉพาะบุคคลได้ จากเดิมที่กระบวนการนี้ใช้เวลานาน แต่หากนำ AI มาใช้ ก็จะสามารถลดเวลาลงเหลือ “ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง” เขาให้สัมภาษณ์กับ TASS เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม
“ปัจจุบัน การสร้าง [วัคซีนเฉพาะบุคคล] ใช้เวลานานพอสมควร เพราะการคำนวณว่าวัคซีน หรือ mRNA ที่ปรับแต่งแล้ว ควรมีหน้าตาอย่างไรนั้น ต้องใช้วิธีการทางเมทริกซ์ ในแง่ของคณิตศาสตร์ เราได้ดึงสถาบัน Ivannikov เข้ามาช่วย ซึ่งทางสถาบันจะใช้ AI ในการคำนวณทางคณิตศาสตร์เหล่านี้ โดยเฉพาะการคำนวณด้วยโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง” กินต์สเบิร์ก หัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนของรัสเซีย กล่าว
สำหรับการฝึกฝน AI นั้น เขาเสริมว่า จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลการทดลอง ซึ่งประกอบด้วยลำดับเนื้องอก 40,000 ถึง 50,000 ชุด พร้อมการระบุความเข้ากันได้ของแอนติเจนในผู้ป่วย ซึ่งจะถูกแปลงเป็นโปรตีนหรือ RNA “สิ่งนี้จะช่วยกำหนดว่า การผสมผสานนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้หรือไม่” เขากล่าว
เมื่อเดือนมิถุนายน มิคาอิล มูราชโก รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัสเซีย ได้ให้สัมภาษณ์กับ TASS ว่า วัคซีนนี้ได้รับการพัฒนาร่วมกันโดยทีมนักวิทยาศาสตร์หลายทีม ซึ่งเป็นตัวแทนจากศูนย์วิจัยระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาเลยา สถาบันวิจัยมะเร็งวิทยาเฮิร์ตเซน มอสโก และศูนย์วิจัยมะเร็งโบลคิน “การวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเป็นส่วนหนึ่งของคำสั่งของรัฐบาล” รัฐมนตรีกล่าว
ที่มา : livemint
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอเตือนเอง พบน้ำยาดองศพในบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงก่อโรคมะเร็ง เลิกได้เลิก
- มะเร็งปอด ดูได้ที่นิ้ว คนมักมองข้าม รู้ไวรักษาทัน
- ส่งกำลังใจ น้องใบเตย ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย จากควันบุหรี่มือสอง สุดยอดใจสู้