ขั้นตอนลงทะเบียน เงินเยียวยาน้ำท่วมภาคใต้ 9,000 บาท ใช้เอกสารอะไรบ้าง ยื่นคำร้องได้ที่ว่าการปกครองท้องถิ่น (อบต) หรือออนไลน์ ผ่านเว็บ flood67.disaster.go.th
สืบเนื่องจากกรณีน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคใต้ รวมกว่า 47 จังหวัด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงิน เยียวยาน้ำท่วม ผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท โอนผ่าน PromptPay แต่จะต้องลงทะเบียนก่อน
ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ สามารถลงทะเบียนได้ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนอาศัย หรือลงทะเบียนออนไลน์ที่ เว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2567
เงินเยียวยา 9,000 บาท คาดว่าจะเริ่มให้ธนาคารออมสินโอนรอบแรกได้ในวันที่ 16 มกราคม 2568
ประาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) แบบผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ให้ไปติดต่อธนาคารได้ทุกธนาคารเพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็วที่สุด
ลงทะเบียนเงินเยียวยาน้ำท่วม ใช้เอกสารประกอบดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน
พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
- สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียน)
- สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า)
- หากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น รวมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3
ถ้าบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูญหายหรือชำรุด ให้ไปขอทำเอกสารฉบับใหม่ได้ที่ว่าการอำเภอ โดยจะได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน
หลักฐานอื่นๆ เพื่อยืนยันว่าบ้านน้ำท่วมจริง
- ให้ถ่ายภาพบ้านที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ หรือพื้นที่เกษตรกร สวน ไร่ นา และอื่นๆ
- ภาพมุมกว้างโดยรวมที่ได้รับความเสียหาย
เงินเยียวยาน้ำท่วมได้กี่บาท
นอกเหนือจากเงิน 9,000 บาทในอัตราเดียวกันแล้ว ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ บ้านที่เคยได้รับเงินเยียวยาไปแล้วหลังละ 5,000 บาท รอบนี้จะได้เพิ่ม โดยยอดเงินรวมจะไม่เกิน 9,000 บาท
เงินอีกก้อนคือค่าซ่อมบ้าน กรณีบ้านเสียหายเกิน 70% ได้รับงบประมาณเยียวยาสูงสุดหลังละ 230,000 บาท เสียหายเกิน 30–70% ได้รับงบประมาณเยียวยาสูงสุดหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อยกว่า 30% ได้รับงบประมาณเยียวยาสูงสุดหลังละ 15,000 บาท
เงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือน้ำท่วม
สามารถขอรับเงินช่วยเหลือน้ำท่วมได้ในกรณีที่ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง หรือผลกระทบจากการระบายน้ำที่ทำให้ชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบ โดยมีเงื่อนไขดังนี้:
- พื้นที่ที่มีประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ
- บ้านต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติหรือพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
- ต้องมีเอกสารรับรองจากหน่วยงานท้องถิ่น (ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30)
- ข้อมูลต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) หรือจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)
- สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร
- การช่วยเหลือกรณีประสบภัยซ้ำ
- หากเกิดน้ำท่วมหลายครั้ง จะสามารถรับการช่วยเหลือได้เพียงครั้งเดียว
พื้นที่ที่ได้รับการประกาศ
- ขณะนี้มีการประกาศใน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่, กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชัยภูมิ, ชลบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, ตาก, นนทบุรี, นครนายก, นครปฐม, นครพนม, นครสวรรค์, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, น่าน, บึงกาฬ, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, พะเยา, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, ภูเก็ต, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ร้อยเอ็ด, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สระแก้ว, สระบุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อุทัยธานี, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
- รวมถึงพื้นที่ในภาคใต้ที่เพิ่งได้รับผลกระทบ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส
ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตัวเลขคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ โดยสรุปได้ดังนี้:
สถิติคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ
- จำนวนคำร้องทั้งหมด: 302,512 ครัวเรือน
- ครัวเรือนที่ได้รับเงินช่วยเหลือผ่านระบบ PromptPay สำเร็จ: 297,851 ครัวเรือน
- ยอดเงินช่วยเหลือรวม: 2,680,659,000 บาท
จังหวัดที่มียอดคำร้องสูงสุด
- เชียงใหม่
- ยื่นคำร้อง: 77,987 ครัวเรือน
- โอนเงินสำเร็จ: 74,940 ครัวเรือน
- เชียงราย
- ยื่นคำร้อง: 35,308 ครัวเรือน
- โอนเงินสำเร็จ: 34,466 ครัวเรือน
- พระนครศรีอยุธยา
- ยื่นคำร้อง: 33,616 ครัวเรือน
- โอนเงินสำเร็จ: 33,616 ครัวเรือน
- น่าน
- ยื่นคำร้อง: 18,130 ครัวเรือน
- โอนเงินสำเร็จ: 18,124 ครัวเรือน
- หนองคาย
- ยื่นคำร้อง: 14,120 ครัวเรือน
- โอนเงินสำเร็จ: 14,080 ครัวเรือน
จังหวัดอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- จังหวัดแพร่: ยื่นคำร้อง 13,982 ครัวเรือน (โอนสำเร็จ 13,981 ครัวเรือน)
- จังหวัดสุโขทัย: ยื่นคำร้อง 12,236 ครัวเรือน (โอนสำเร็จ 12,225 ครัวเรือน)
สถิติในบางพื้นที่เพิ่มเติม
จังหวัดสุพรรณบุรี มีจำนวนคำร้องทั้งหมด 11,400 ครัวเรือน โดยโอนเงินสำเร็จ 11,397 ครัวเรือน ขณะที่จังหวัดพะเยามีคำร้อง 11,325 ครัวเรือน และโอนสำเร็จ 11,321 ครัวเรือน
จังหวัดลำพูนและลำปางก็ติดอันดับด้วยยอดคำร้องที่ใกล้เคียงกัน โดยมีคำร้องสำเร็จมากกว่า 9,000 ครัวเรือนในแต่ละจังหวัด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง ธันวาคม 2567 เงินเข้าแล้ว เช็กเลยได้กี่บาท
- เปิด 5 สิ่ง ‘ควรทำ’ หลังน้ำลด แนะวิธีเช็ก ‘เงินเยียวยาน้ำท่วม’ เข้าวันไหน
- ประกันสังคม “เยียวยาน้ำท่วม” ลดเงินสมทบ ม. 33-39 นาน 6 เดือน