สนธิ ยื่นหนังสือ ร้องนายกฯ ยกเลิก MOU 44 ไทย-กัมพูชา มวลชนหนุน บุกทำเนียบ
‘สนธิ’ ลั่นกลองรบ ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ต่อนายกฯ อุ๊งอิ๊ง เสนอยกเลิก MOU 44 ปกป้องสิทธิทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชา รอติดตามผล 15 วัน ลั่น ศึกครั้งนี้ต้องชนะ ลงถนนเป็นตัวเลือกสุดท้าย
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 67 นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (กพ.) ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ พร้อมด้วยมวลชนจำนวนหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้รับทราบ และยุติข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชา อ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปราชาณาอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544)
รวมถึงแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) โดยมองว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนต่อพระการของในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ด้วยหลักฐานต่าง ๆ ที่รวบรวมมา นายสนธิระบุว่า MOU 2544 ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับกัมพูชา จึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขรายละเอียด ตามข้อเรียกร้อง 6 ประการ ดังต่อไปนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
6 ข้อเรียกร้อง จากสนธิ ลิ้มทองกุล ถึงนายกฯ ปม MOU 44
1. ให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตไหล่ทวีปในทะเลด้านอ่าวไทยของประเทศไทย โดยเฉพาะเขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด ตามบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 52 ของหมวด 5 ในรัฐธรรมนูญ
2. ให้นายกฯ เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว
3. หากดำเนินการตามข้อ 2. แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า MOU 2544และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกการเจรจา MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
4. หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติ ให้คณะรัฐมนตรีเจรจากับกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยใช้หลักการของ “เส้นมัธยะ” ในการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนตามจริง แล้วนำผลของการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาความเห็นชอบภายใน 30 วัน จากนั้นจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็นพระราชโองการ
5. ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ตาม MOU 2544 และ JC 2544 ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
6. ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชน ในการพูดคุยเรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้มีความคิดเห็นของผู้ที่มีความรู้ ทั้งฝ่ายที่เห็นต่าง และฝ่ายที่มีเห็นด้วย เพื่อความเป็นกลางและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ระดับประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้นายสนธิ ยังได้เสนอให้รัฐบาลแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน 15 วัน หากจับตาดูการติดตามแล้วไม่มีความคืบหน้าจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเจ้าตัวได้ระบุเพิ่มเติมว่าการต่อสู้ครั้งนี้ “ต้องชนะเท่านั้น” โดยจะมีการวางแผนไว้ไม่เกิน 3 ระดับ ซึ่งขั้นตอนแรกคือการยื่นหนังสือในครั้งนี้
ส่วนประเด็นที่มีข่าวว่าจะปลุกระดมมวลชนให้การลงถนนไปชุมนุม สนะิ ลิ้มทองกุลชี้แจงว่า การต่อสู้ทางการเมืองต้องทำด้วยความรอบคอบ เนื่องจากอายุมากแล้ว ตนจึงเลือกที่จะทำตามระบบโดยการยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรี หากไม่ยกเลิก MOU 2544 ตามที่เสนอไป เท่ากับผู้เห็นชอบในสภาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การขายชาติ’ ส่งผลให้ประเทศไทยเสียสิทธิประโยชน์ใต้ทะเลบริเวณอ่าวไทยและเกาะกูดให้กับกัมพูชาโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้สนธิทิ้งท้ายว่า ศึกครั้งนี้ไม่รีบร้อน และพยายามทำตามขั้นตอนที่วางไว้ แต่หากสู้จนสุดซอยแล้วยังไม่คืบหน้า ก็จำเป็นต้อง ‘ทะลุซอย’ ส่วนใครที่ปรามาสว่ายังมีมวลชนสนุบสนุนอยู่หรือไม่ ก็ขอให้ติดตามดูหากวันนั้นมาถึง อาจจำเป็นต้องแสดงพลังความรักชาติให้เห็น โดยเชื่อมั่นว่าฝั่งตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงต้องการปกป้องประโยชน์ของแผ่นดินไทย และยืนยันว่าจะไม่ยอมส่งต่อดินแดน รวมถึงสิทธิอาณาเขตให้กับกัมพูชา เพียงเพราะผู้นำกัมพูชาและนายกฯ ของไทย ทำข้อตกลงว่าจะแบ่งผลประโยชน์ 50-50 กันอย่างแน่นอน.
อ้างอิง : Facebook คุยทุกเรื่องกับสนธิ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นายกอิ๊งค์ เตรียมแถลงผลงาน 90 วัน 12 ธ.ค. ภายใต้ชื่อ โอกาสไทยทำได้จริง
- แม่ยก หอมแก้ม พิธา ขึ้นปราศรัย อบจ.อุบล ขอให้ ปชช. ตัดสินใจ ขั้วใหม่หรือขั้วใหญ่
- ภูมิธรรม แจงชัด ปมเมียนมาปล่อยตัว 4 ลูกเรือไทยช้า ลั่นทุกอย่างตามขั้นตอน