ประกันสังคม แจ้งข่าวดี ลูกจ้าง ‘ตกงาน-ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง’ รับเงินชดเชย สูงสุด 50% ของเงินเดือน นาน 180 วัน ลงทะเบียนออนไลน์ ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน
ช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ มีข่าวการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทหลายแห่งออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเกิดความวิตกว่าจะขาดรายได้ ประกันสังคมออกมาแจ้งข่าวสำหรับผู้ประกันตนที่ตกงาน ว่างงาน หรือถูกเลิกจ้าง สามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยกรณีว่างงานได้ รวมให้ครบเงื่อนไขและ คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิ์รับเงิน
ถูกเลิกจ้างงาน ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?
สำหรับผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างงาน จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาท
ในกรณีที่ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
หากยื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือ สิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
ใครได้รับเงินชดเชย กรณีถูกเลิกจ้างงานบ้าง?
ผู้ว่างงานสามารถรับเงินเชยได้ ต้องมีเงื่อนไขและคุณสมบัติ ดังนี้
1. จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
2. มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
3. ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th) ของกรมการจัดหางาน
- กรณีขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
- กรณีขึ้นทะเบียนว่างงานเกิน 30 วัน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่ขึ้นทะเบียนว่างงานจนครบสิทธิ
4. ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง โดยรายงานตัววันใดก็ได้ภายในเดือนที่นัด
5. เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
6. ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
7. ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- สิทธิที่ท่านจะได้รับประโยชน์ทดแทน เงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ดังนี้
หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทน
หากท่านเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด สามารถยื่นเอกสารเพื่อรับเงินชดเชยได้ ดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ดังนี้
- พร้อมเพย์ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนทุกธนาคาร
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
จากนั้นนำเอกสารไปยื่นผ่านเว็บไซต์สำนักงานจัดหางานของรัฐ และ สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
1. ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านเว็บไซต์ https://e-service.doe.go.th ของสำนักงานจัดหางานของรัฐ
2.ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทรสายด่วน 1506 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น. หรือเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office
ข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ประกันตน รับเงินประกันสังคมคืนได้ ใครได้บ้าง พร้อมขั้นตอนลงทะเบียน
- ช็อก บริษัทยานยนต์ชื่อดัง เลิกจ้างพนักงาน 900 ชีวิต เซ่นพิษเศรษฐกิจ
- กระทบทุกตำแหน่ง ช่อง 3 ส่งอีเมลล์เลิกจ้างพนง.กว่า 300 คนจ่ายชดเชยตามอายุงาน