ย้อนรอยคดี “แอม ไซยาไนด์” ฆาตกรต่อเนื่อง 14 ศพ ปมล้างหนี้-ติดพนันออนไลน์
ย้อนไทม์ไลน์ คดีแอมไซยาไนด์ มือวางยาพิษ 14 ศพ เกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังศาลอาญาตัดสินประหารชีวิต ส่วนอดีตสามี-ทนายพัช จำคุก ชดใช้ 2.4 ล้านให้ครอบครัวเหยื่อ
จากผลพิพากษาศาลอาญาตัดสินประหารชีวิต น.ส.สรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ หรือ “แอม ไซยาไนด์”, พ.ต.ท.วิฑูรย์ อดีตสามี จำคุก 1 ปี 4 เดือน, น.ส.ธันย์นิชา หรือ ทนายพัช จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ผู้เสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งผลตัดสินดังกล่าวเป็นของคดีแรกจากทั้งหมด 15 คดีตั้งแต่ปี 2558 – 2566 ซึ่งรวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 ศพ
จุดเริ่มต้นคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง เกิดขึ้นหลังน.ส.ศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย หายตัวไปเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 66 ทำให้ทางฝั่งพี่สาวและแม่ตามหาเบาะแสจนพบว่า ก้อยเสียชีวิตริมท่าน้ำ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พี่สาวจึงติดต่อ “แอม” ซึ่งเป็นเพื่อนของก้อยสอบถามข้อมูลการเสียชีวิต ตัวแอมปฏิเสธไม่รู้เห็น เนื่องจากตอนนั้นอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา พร้อมแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวเพื่อน
ด้าน ตำรวจ สภ. บ้านโป่ง สืบหาข้อเท็จจริงด้วยการเปิดกล้องวงจรปิดที่จุดเกิดเหตุ ซึ่งพบผู้หญิงเสื้อขาวรูปร่างคล้ายแอมอยู่กับก้อยในเวลานั้น
ถัดมาวันที่ 15 เม.ย. ครอบครัวผู้เสียชีวิตพบว่าทรัพย์สินของก้อยได้หายไป ได้แก่ รถเก๋ง 1 คัน กระเป๋าหลุยส์ ราคาประมาณ 4 หมื่น และมือถืออีก 2 เครื่อง พร้อมโพสต์ภาพตามหาผู้หญิงเสื้อขาวจากภาพกล้องวงจรปิด
ครอบครัวก้อยมีการประสานขอความช่วยเหลือจากนายรพี ชำนาญเรือ จนพบว่า “รถของก้อย” จอดทิ้งไว้ที่หน้าบ้านตำรวจนายหนึ่ง ซึ่งมีภาพก้อยเดินขึ้นไปพร้อมรถ “แอม” เจ้าตัวจึงติดต่อกลับมา พร้อมยอมรับไปกับก้อยจริง แต่ไม่กล้าบอกใครเพราะผู้เสียชีวิตให้พาไปหาผู้ชายคนหนึ่ง
ส่วนเรื่องทรัพย์สินตัวก้อยทิ้งไว้ที่บ้านเพื่อนระหว่างทาง ทว่าหลังจากนั้นกลับคำบอกว่าเอาไปทิ้งขยะ
เจ้าหน้าเรียกตัวแอมเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาฐานลักทรัพย์ โดยใช้ยานพาหนะ ซึ่งแอมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าว ก่อนได้ประกันตัวชั่วคราว ทางครอบครัวจึงนำหลักฐานเข้าร้องเรียนตำรวจกองปราปฯ พร้อมญาติผู้เสียชีวิตรายอื่นที่มีความเชื่อมโยงกับ “แอม”
จากการสืบค้นพยานหลักฐานในคดีอื่นที่มีผู้เสียชีวิตลักษณะคล้ายกัน พบว่า ส่วนใหญ่เหยี่อเป็นคนในพื้นที่ราชบุรี, กาญจนบุรี และนครปฐม ซึ่งมีความสัมพันธ์เรื่องเงินทองกับแอม เช่น วงแชร์ ฯลฯ โดยเจ้าตัวมักอยู่กับผู้ตายตคนสุดท้ายเป็นประจำ ด้วยการชวนไปทำบุญ กินข้าว ก่อนเกิดเหตุสูญเสียระหว่างทางหรือถึงกลับบ้านแล้วเสียชีวิต ฯลฯ
ครอบครัวก้อยจึงนำหลักฐานเข้าร้องเรียน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. (บิ๊กโจ๊ก ในขณะนั้น) เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทั่งมีรายงานพบสารพิษไซยาไนด์ ในศพของก้อย ฝั่งเจ้าหน้าที่จึงเข้าจับกุม “แอม” ตามหมายจับศาลอาญาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมีทนายพัชให้สัมภาษณ์กับสื่อว่ามั่นใจสู้คดีได้แน่ ขณะที่ตัวผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ
หลังพบหลักฐานเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จึงขยายผลคดีเสียชีวิตแปลกประหลาดที่เกี่ยวข้องกับแอม โดยมีเหยื่อที่เสียชีวิตอีก 13 ราย และ 1 รายที่รอดชีวิตดังนี้ (รวมก้อยเป็น 15 ราย)
1. น.ส.มณฑาทิพย์ ชาวกำแพงเพชร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2558 ที่กทม. ก่อนเสียชีวิตเธอเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยมี “แอม” เป็นคนขับรถไปรับที่สนามบิน
2. น.ส.นิตยา อายุ 36 ปี เสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ในบ้านพัก ในพื้นที่ ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เมื่อ สาเหตุการตายเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว ผู้ตายเป็นคนค้ำประกันเงินกู้ให้กับแอม และ พบว่าแอมอยู่ด้วยในคืนสุดท้าย
3. น.ส.ดาริณี เทพหวี หรือ ฟ้า อายุ 34 ปี เสียชีวิตด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2563 ที่ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีทรัพย์สินสูญหาย 60,000 บาท
4. นายสุรัตน์ อายุ 35 ปี เสียชีวิตด้วยสาเหตุหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ที่บ้านพักในพื้นที่ ตำบลท่าไม้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ช่วงเสียชีวิตพบเงินจากบัญชีธนาคารถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารของแอมเป็นเงิน 60,000 บาท
5. ร.ต.อ.หญิง กานดา หรือ ผู้กองนุ้ย อายุ 36 เสียชีวิตด้วยสาเหตุระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่บริเวณหน้าห้างโกลบอล จังหวัดนครปฐม และพบว่าผู้ตายได้ร่วมวงแชร์ 100,000 บาทกับแอม
6. น.ส.รสจินทร์ หรือ เจ๊น้อยขายผัก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่ตลาดมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยสาเหตุเลือดเป็นกรด และพบว่า ได้ร่วมวงแชร์ 100,000 บาทกับแอม ด้วย
7. นางจันทร์รัตน์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 ที่บ้านพักในพื้นที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ด้วยสาเหตุโลหิตล้มเหลว และมีประวัติร่วมลงทุนปล่อยเงินกู้ 70,000 บาท
8. นางมณีรัตน์ หรือ ครูต่าย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 ที่ตลาดบน-ตลาดล่าง พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ด้วยสาเหตุเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ก่อนเสียชีวิตแอมได้โทรศัพท์ และ มานัดเจอกับครูต่าย
9. น.ส.กะณิกา อายุ 44 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ที่ปั๊ม ปตท. บริเวณวงเวียน โพธาราม จังหวัดราชบุรี ด้วยสาเหตุหลอดเลือดในสมอง ในช่วงเสียชีวิตเงินในบัญชีธนาคารถูกถอนออกไป 300,000 บาท โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำสูญหายไปอีกอย่างละเส้น
10. น.ส.ผุสดี หรือ ครูอ๊อด อายุ 39 ปี เสียชีวิต 20 พ.ย. 2565ในบ้านพัก ตำบลลำบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ด้วยสาเหตุมะเร็งเม็ดเลือด มีภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยพบว่า ครูอ๊อดร่วมวงแชร์ 100,000 บาทกับแอม
11. นายสุทธิศักดิ์ อายุ 35 ปี สามีใหม่ พ่อเด็กในท้องแอม เสียชีวิตด้วยสาเหตุหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2566 ที่บ้านพักในพื้นที่ ตำบลสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ได้ทรัพย์สินเป็นสร้อยคอทองคำและสร้อยข้อมือทองคำน้ำหนักรวม 8 บาท พระเครื่องมูลค่า 100,000 บาท และเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง
12. พ.ต.ต.หญิง นิภา แสนจันทร์ อายุ 38 ปี สาเหตุการตายระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 ที่บ้านเลขที่ 196 ถนนเทศา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยทรัพย์สินที่สูญหายประกอบด้วยเงินสด 10,000 บาท และเงินในบัญชีธนาคารที่ถูกถอนออกไป 140,000 บาท
13. น.ส.สาวิตรี หรือ หนิม อายุ 40 ปี เป็นเจ้าหนี้แอม หลักแสนบาท ผู้เสียชีวิตในพื้นที่ จังหวัดมุกดาหาร หลังกินยาลดความอ้วนตามที่แอมชวนกิน
14. กานติมา ภรรยาตำรวจสังกัด ตชด. ผู้รอดชีวิตเพียง 1 เดียว รู้จักกับแอมเพราะต่างเป็นภรรยาของตำรวจที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน (แอมเคยยืมเงิน 250,000 บาท) ต่อมาช่วงกันยายน ปี 2565 เธอติดโรคโควิด 19 ไออย่างต่อเนื่อง ซึ่งตัวแอมได้ชวนกานติมาไปกินข้าวที่ห้างแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ก่อนให้ยาสมุนไพรต้านโควิดมากิน เจ้าตัวก็รับมากินตามปกติเพราะไว้ใจเพื่อน ก่อนแยกย้ายกันไป ก่อนที่จู่ ๆ กานติมามีอาการแน่นหน้าอก-หายใจไม่ออก มือชา จึงโทรหาแอมให้ช่วย แต่อีกฝั่งบอกว่ามาไม่ได้ เพราะหลงทางอยู่
เหตุการณ์นั้น กานติมาตัดสินใจโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยเมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์ทำ CPR จนรอดชีวิต ช่วงนั้นกานติมารู้สึกลังเลใจ เพราะไม่คิดว่าแอมจะวางตน จึงคิดว่าอาจแพ้ยาในสมุนไพรข้างต้น แต่หลังข่าวคดีก้อยดังขึ้นมา ประกอบกับเหตุการณ์ที่ตนเคยเจอจึงค่อนข้างมั่นใจว่าเคสตนน่าจะถูกแอมวางยาเช่นกัน
ต่อมาช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 บิ๊กโจ๊ก รายงานความคืบหน้าคดีว่า พบเส้นทางการเงินของแอมเข้าไปพัวพันกับพนันออนไลน์ เป็นเงินหมุนเวียนกว่า 93 ล้านบาท มาจากธนาคารทั้งสิ้น 180 บัญชี (เงินเข้าบัญชีม้า) เสียมากสุดวันละ 1 ล้านบาท จนท. จึงเชื่อว่าแรงจูงใจคือต้องการใช้เงิน เพราะติดหนี้พนันออนไลน์
หลังรวบรวมพยานหลักฐานกว่า 3 เดือน สอบปากคำพยานกว่า 900 ปาก มีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น จึงสามารถสรุปสำนวนคดีได้ว่า น.ส.สรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ, ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้, การปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอม และใช้เอกสารปลอมฯ รวมกว่า 75 ข้อหา
ขณะที่พ.ต.ท.วิฑูรย์ อดีตสามีแอม เป็นผู้ช่วยทำลายหลักฐานเกี่ยวข้องกับคดี โดยมีทนายพัชเป็นผู้ยุยง ซึ่งระบุว่า “ถ้าจะสู้ให้หลุด ก็ต้องไม่ปรากฏของกลาง” พร้อมยกตัวอย่างเคสอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าว ซึ่งมีความผิดฐาน “เพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด” ทั้งสองราย
ส่วนคำถามว่าแอมได้สารไซยาไนด์มาจากที่ไหนนั้น จากคำให้การทราบว่าผู้ต้องหาซื้อจากช่องทางออนไลน์ ตำรวจจึงยึดของกลางเพื่อสืบสวนขยายผลหาผู้จัดจำหน่ายอันตรายดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง