ไขข้อสงสัย ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 รับเงินคืนประกันสังคมได้ 3 กรณี เช็กเลยใครได้รับเงินบ้าง พร้อมวิธีการลงทะเบียนและเอกสารที่ใช้ยื่น
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มีสิทธิ์ได้รับเงินประกันสังคมคืนได้ ใน 3 กรณี ได้แก่ เงินชดเชยกรณีว่างงาน, เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญ สำหรับผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ เงินบำเหน็จ เงินชราภาพ กรณีเสียชีวิต พร้อมเงื่อนไข และขั้นตอนการขอคืน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันจนที่จะได้รับเงินประกันสังคมคืนได้ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน เป็นจำนวน 5% ของเงินเดือน โดยจะคิดจากฐานเงินเดือน ตั้งแต่ 250-750 บาทต่อเดือน สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
1. ชดเชยกรณีว่างงาน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ว่างงาน หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน โดยจะได้รับเงินใน 2 กรณี คือ ว่างงานจากการลาออก หรือถูกเลิกจ้าง
สำหรับผู้ที่ว่างงานจากการลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา จะได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน/ปีปฏิทินส่วนผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน/ปีปฏิทิน โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ขั้นตอนลงทะเบียนว่างงานรับเงินชดเชย
ผู้ประกันตนม. 33 ที่ประสงค์จะลงทะเบียนรับเงินชดเชย ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
1. เข้าไปที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน https://e-service.doe.go.th
2. เข้าสู่ระบบสำหรับบุคคลทั่วไป
3. หน้าจอจะขึ้นเมนู ลงชื่อเข้าใช้งาน และรหัสผ่าน แล้วกดเข้าสู่ระบบ ในกรณีเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ให้กดลงทะเบียน เพื่อพิสูจน์ตัวตนในระบบ Digital ID ก่อน
4. เลือก ‘ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน’
5. กดดำเนินการต่อ
6. จากนั้นหน้าจอจะขึ้นแถบสีน้ำเงินมีข้อความว่า ‘ระบบขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน’ ผู้ประกันตนคลิกเมนูขึ้นทะเบียนว่างงาน
7. กดปุ่มขึ้นทะเบียนว่างงาน แล้วดำเนินการกรอกข้อมูลและรายละเอียด พร้อมแนบไฟล์เอกสาร ได้แก่ สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ และหน้าที่มีชื่อผู้ประกันตน
8. เมื่อกดบันทึก ระบบจะแสดงการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ต้องส่งเอกสารที่สำนักงานจัดหางานหรือสำนักงานประกันสังคม
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสาเหตุไล่ออก, ปลดออก, ให้ออกเนื่องจากกระทำความผิด, ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีการติดต่อนายจ้างภายใน 7 วันทำงานติดต่อกัน จึงจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน
2. เงินชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญ
ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินคืน หากสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี อย่างไรก็ตามแม้ผู้ประกันตนจะสิ้นสุดสถานะแล้ว แต่ถ้ายังอายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถรับเงินคืนได้ใน 2 กรณี ดังนี้
2.1 เงินบำเหน็จชราภาพ รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข
- จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
- จ่ายเงินสมทบ ตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย, เงินสมทบนายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทน
2.2 เงินบำนาญชราภาพ รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต มี 2 เงื่อนไข
- จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน รับเงินเพิ่มอีกปีละ 1.5%
เงื่อนไขในการยื่นรับสิทธิประโยชน์
ผู้ประกันตนที่ประสงค์จะรับเงินชดเชยชราภาพ บำเหน็จ-บำนาญ ต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กำหนด
1. เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39
2. อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
3. เป็นผู้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต (เฉพาะเงินบำเหน็จชราภาพ)
เอกสารที่นำไปยื่นรับเงินชดเชย
สำหรับเอกสารที่ผู้ประกันตนต้องเตรียมยื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่, จังหวัด และสาขา ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน, แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส.2-01 และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ หรือพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
3. เงินบำเหน็จ เงินสงเคราะห์ กรณีเสียชีวิต
ในกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เสียชีวิต ผู้ที่เป็นทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ บำเหน็จชราภาพ และค่าทำศพ โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุชื่อให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับบุคคลที่มีชื่อระบุในหนังสือ สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ ว่าให้ใครเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดามารดา สามีหรือภรรยา และบุตร โดยหารเฉลี่ยในอัตราคนละเท่ากัน ดังนี้
- กรณีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คูณ 4
- กรณีผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คูณ 12
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์
1. ค่าทำศพ 50,000 บาท
เงินจำนวนนี้จะจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ ได้แก่ สามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ หรือบุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
2. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตให้แก่ทายาท
เงินสงเคราะห์จะจ่ายให้แก่บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้เท่านั้น หากผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ จะเฉลี่ยจ่ายให้ผู้มีสิทธิในจำนวนที่เท่ากัน ได้แก่ สามี ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสกัน บิดา มารดา กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา บุตรของผู้ประกันตน รวมทั้งบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
3. เงินบำเหน็จชราภาพ
หากผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคืนโดยจ่ายให้แก่ ทายาทผู้มีสิทธิ ดังนี้
1. บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ให้ได้รับ 2 ส่วน ถ้าผู้ประกันตนที่เสียชีวิต มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปให้ได้รับ 3 ส่วน
2. สามีหรือภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้รับ 1 ส่วน
3. บิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน ที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับ 1 ส่วน (กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะได้เฉพาะมารดา)
4. บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับ 1 ส่วน ร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ
หากผู้ประกันตนไม่มีทายาทผู้มีสิทธิ หรือ ไม่มีบุคคลอื่นตามหนังสือที่ระบุ จะให้สิทธิแก่บุคคลตามลำดับดังนี้
1. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
2. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา
3. ปู่ ย่า ตา ยาย
4. ลุง ป้า น้า อา
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงทะเบียนรับเงินชดเชยใน 3 กรณีที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประกันสังคม ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ 68 ได้ไหม
- ข่าวดี ประกันสังคม ม.33-ม.39 รับเงินสงเคราะห์บุตร 1000 บาท ได้เงินวันไหน
- รวมข้อมูล ย้ายสิทธิประกันสังคม 2568 ออนไลน์ ฟรี ครบจบในที่เดียว