เปิดรายชื่อ 31 จังหวัดสุดท้าย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเดินหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว พ.ศ. 2567 เฟส 4 ครอบคลุมครบพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วไทย
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 4 และจะมีการเดินหน้าอย่างแน่นอนใน 31 จังหวัดที่เหลือ
ทาง สธ. เตรียมความพร้อมเรียบร้อย ส่วนวันที่จะคิกออฟอย่างเป็นทางการกำลังอยู่ระหว่างประสานความร่วมมือทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเหมาะสม
ก่อนจะเผยต่อว่า ทางหน่วยงานมีการยกระดับระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีความทันสมัยเป็นดิจิทัล ไม่ต้องใช้กระดาษเป็นใบส่งตัว สามารถใช้ระบบนี้ได้ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ ตอนนี้มีการนำร่องแล้วที่เขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ และ จังหวัดอุทัยธานี จากนั้นจะค่อย ๆ ขยับขยายไปในเขตสุขภาพอื่น ๆ ต่อไป
เปิดรายชื่อ 31 จังหวัดสุดท้าย เตรียมดำเนินการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
- ภาคเหนือ 4 จังหวัด
จังหวัดตาก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลก
- ภาคกลาง 14 จังหวัด
จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และ จังหวัดตราด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด
จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และ จังหวัดอุบลราชธานี
- ภาคใต้ 6 จังหวัด
จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดนครศรีธรรมราช
30 บาทรักษาทุกที่ 4 ระบบดิจิทัลเฮลท์
ในการประชุมผู้บริหารมีการนำเสนอการพัฒนาระบบบริการ เพื่อรองรับการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ใน 4 เรื่องสำคัญด้วย ประกอบด้วย
1. ระบบการส่งต่อผู้ป่วย (MOPH Refer) โดยมีระบบข้อมูลการส่งต่อการรักษาตัวกลาง หรือ Refer Center ที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าระบบสามารถดุได้ว่ามีการส่งต่ออะไร ส่งต่อไปที่ไหน รวมถึงโรงพยาบาลปลายทางสามารถตอบรับการส่งตัว ทำให้คนไข้ทราบได้ว่าว่าต้องไปพบแพทย์วันไหน แพทย์ชื่ออะไร พร้อมทั้งแนบใบรับรองแพทย์ด้วย
2. Imaging Hub โดยจะมีระบบให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีการแพทย์ การส่งต่อการรักษา และระบบช่วยอ่านภาพถ่ายทางรังสี ด้วยเอไอ (AI) จะเริ่มดำเนินการใน 3 เรื่องที่จะนำเอไอ (AI) มาใช้ช่วยเสริมในการวินิจฉัยในรพ.ของสธ. คือ เอ็กซเรย์ ซีที-สแกน และโรคตา
3. แผนที่สุขภาพ (Thailand Health Atlas) ที่จะเป็นระบุเลข 13 หลักของประชาชน กำหนดละติจูดของเป้าหมาย 9 กลุ่มโรค คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลประคับประคอง ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบระยะยาว ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบระยะกลาง การส่งเสริมและการป้องกันโรค ผู้พิการ การสอบสวนโรคติดต่อ และการดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ จะมีการเชื่อมข้อมูล big data เข้ากับข้อมูลระบาดวิทยาด้วย เช่น เกิดผู้ป่วยไข้เลือดออก หรือวัณโรค เจ้าหน้าที่ก็จะทราบได้ว่ามีผู้ป่วยอยู่จุดไหน มีการนำร่องแล้วใน 5 จังหวัด คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดหนองบัวลำภู
4. บริการเจาะเลือดที่บ้าน (Lab Rider) ขณะนี้มีการนำร่องพัฒนาระบบที่รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “30 บาทรักษาทุกที่” ตรวจสุขภาพฟรี 11 รายการ 27 ก.ย. นี้ ลงทะเบียนเลย
- เลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่กทม. จากเดิม 26 ส.ค.นี้ เผยระบบพร้อม แต่รอตั้ง ครม.
- รัฐบาลปลื้ม 30 บาทรักษาทุกที่ ช่วยประชาชนนับล้านเข้าถึงยาง่ายขึ้น