ตั้งคำถาม เคส “ดิไอคอน” เข้าข่ายการรับเป็นสมาชิกร่วมทุน พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน หรือไม่
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. ยก พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน เทียบคดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ตั้งคำถาม เข้าข่ายการรับเป็นสมาชิกร่วมทุน หรือการรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่
กำลังเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ สำหรับโพสต์ของ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ได้ออกมาตั้งคำถาม ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Panat Tasneeyanond โดยการยกข้อความในมาตรา 3 ของพระราชกำหนดกู้ยืมเงิน ความหมายสำคัญในพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2567 เทียบกับปม บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (THE iCON GROUP) ว่าแท้จริงแล้ว ธุรกิจดังกล่าวเข้าข่ายมาตรานี้หรือไม่
โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ดังนี้ “มาตรา 3 ในพระราชกําหนดนี้ “กู้ยืมเงิน” หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจําหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก รับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงิน หรือ บุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทําด้วยวิธีการใด ๆ”
กรณีของ ดิ ไอคอน กรุ๊ป เป็น “การรับเข้าเป็นสมาชิก” “รับเข้าร่วมลงทุน” หรือ “การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง” ตามบทนิยามข้างต้นนี้หรือไม่”
ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุดของคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (THE iCON GROUP) ขณะนี้ทางดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษแล้ว แต่ในความผิดอื่น ๆ อย่างความผิดต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่ 115/2567 อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
ขณะที่ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ แชร์ลูกโซ่ อยู่ในระหว่างการสืบสวนพยานหลักฐานด้านความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง