เช็กรายได้ ‘เภสัชกร’ รับเงินเดือนตามตำแหน่ง หน้าที่รับผิดชอบ และสถานที่ทำงาน พร้อมตอบข้อสงสัย ‘การขายเวร’ ในทางการแพทย์ หมายถึงอะไร
สำหรับอาชีพ ‘เภสัชกร’ เป็นอาชีพที่มีความสำคัญในสายงานสาธารณสุข ด้วยความเชี่ยวชาญด้านยา เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำหน้าที่จ่ายยา ให้คำปรึกษา และดูแลผู้ป่วย โดยสามารถทำงานได้ทั้งในโรงพยาบาล และร้านขายยา ทาง The Thaiger จะพาไปส่องเงินเดือนเภสัชกรในตำแหน่งไหน ได้รับเงินเท่าไหร่กันบ้าง
อัตราเงินเดือนเภสัชกร
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ระบุอัตราเงินเดือนของเภสัชกร ประจำปี 2567 เมื่อรวมกับเงินเดือนเฉลี่ยและเงินเดือนพิเศษแล้วจะอยู่ที่เดือนละประมาณ 42,500 บาท ทั้งนี้รายได้ของเภสัชกรในแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไปตามสถานพยาบาลหรือตำแหน่งหน้าที่ ดังนี้
1. เภสัชกร ในโรงพยาบาล
สำหรับเงินเดือนของผู้ที่สนใจประกอบอาชีพเภสัชกรในโรงพยาบาล เริ่มต้นที่ 15,000 บาท โดยยังไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น ค่าอยู่เวร และค่าใบประกอบวิชาชีพ
2. เภสัชกร ในโรงพยาบาลสาธารณสุข
เภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาลสาธารณสุข ได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 17,000 – 19,000 บาท โดยมีค่าเงินเพิ่มสําหรับตําแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พตส.) จำนวน 1,500 – 3,000 บาท ไม่ประกอบเวชฯ หรือไม่เปิดคลินิกของตนเอง จำนวน 5,000 บาท
อีกทั้งยังได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายพื้นที่ทุรกันดาร หรือเบี้ยกันดาร 3,000 – 13,000 บาท และได้รับเงินจากการขึ้นเวร จำนวน 720 – 1,300 บาท
3. เภสัชกรร้านยา
ส่วนเภสัชกรที่ทำงานในร้านขายยา มีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 30,000 บาท และหากตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวได้รับเงินเดือน 40,000 – 60,000 บาท โดยไม่รวมค่าคอมมิชชัน ค่านายหน้า และค่าทำงานล่วงเวลา
4. ผู้แทนยา
ผู้แทนยา หรือตัวแทนของบริษัทยา ได้รับเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาทขึ้นไป หากรวมค่าคอมมิชชันด้วยอาจได้รับเงินสูงถึงหลักแสนบาท
สำหรับตำแหน่งที่นี้ คือ ผู้ให้ข้อมูลยาแก่แพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เลือกใช้ยาของบริษัทในการรักษาผู้ป่วย และจะนำเสนอเข้าโรงพยาบาลหรือร้านยา โดยจะติดต่อประสานงานในการสั่งซื้อ การเปลี่ยนยา และการขจัดข้อโต้แย้งสงสัย เพื่อให้เกิดยอดขายของยาที่รับผิดชอบ
ไขข้อสงสัย ‘การขายเวร’ ในทางการแพทย์ คืออะไร
การขายเวร เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในแวดวงการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการขายเวร หมายถึง การที่แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ ตกลงกันเอง เพื่อเปลี่ยนเวร หรือเวลาในการทำงาน โดยอาจมีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่รับช่วงต่อ ตามที่ทั้ง 2 บุคคลจะตกลงกัน
ส่วนสาเหตุของการขายเวร อาจเกิดจากที่บุคลากรทางการแพทย์ มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และต้องรับผิดชอบงานจำนวนมาก ทำให้บางครั้งจำเป็นต้องขายเวร เพื่อแบ่งเบาภาระ หรือมีเวลาพักผ่อน รวมทั้งอาจเกิดจากเหตุผลส่วนตัว เช่น มีธุระจำเป็น ต้องเดินทาง หรือต้องการจัดสรรเวลาให้กับครอบครัว
สำหรับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขายเวร เนื่องจากเกิดการขายเวรอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล หากผู้ที่รับช่วงต่อไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์เพียงพอ อีกทั้งยังความไม่เป็นธรรม อาจเกิดการเอารัดเอาเปรียบ หรือ กดราคาในการขายเวร
อย่างไรก็ตาม การขายเวรถือเป็นการช่วยลดหรือแบ่งเบาภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อาจมีธุระส่วนตัวเร่งด่วนที่ต้องไปทำ ซึ่งการขายเวรนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ และการตกลงราคาขายของทั้งผู้ขายเวรและผู้รับช่วงต่อเวรนั้น ๆ
ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น, Thammasat University Library
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง