มือกลองวง Blur ฟาด กฎหมายการุณยฆาต ของประเทศอังกฤษ โรคจิต บังคับอดีตภรรยาให้ตายอย่างโดดเดี่ยว เพราะใครช่วยเหลือติดคุก 14 ปี
สำนักข่าวของประเทศอังกฤษ รายงานเหตุดราม่า พาโอลา มาร์รา (Paola Marra) วัย 53 ปี อดีตภรรยาของ เดฟ ราวน์ทรี (Dave Rowntree) มือกลองวง Blur ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวิธีการุณยฆาต ที่คลินิก Dignitas ในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้
ก่อนเสียชีวิต มาร์รา ได้บันทึกวิดีโอสุดสะเทือนใจ วิงวอนให้แก้ไขกฎหมาย “การุณยฆาต” ในสหราชอาณาจักร โดยเธอต้องการให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีสิทธิ์ที่จะยุติความทรมานด้วยตัวเอง
มาร์รากล่าวว่า “เมื่อคุณดูวิดีโอนี้ ฉันจะจากไปแล้ว” แต่ “การที่คุณดูวิดีโอนี้อาจช่วยเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการช่วยเหลือการตายได้”
“ฉันเลือกที่จะตายอย่างสงบ เพราะฉันไม่ยอมให้โรคร้ายมากำหนดชีวิตของฉัน ความเจ็บปวดทรมาน อาจเกินจะทน มันค่อยๆ กัดกร่อนศักดิ์ศรี ความเป็นอิสระ และทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ชีวิตมีค่า การุณยฆาต ไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการทวงคืนการควบคุม มันไม่ใช่เรื่องของความตาย แต่มันคือเรื่องของศักดิ์ศรี”
มาร์รา ยังเขียนจดหมายถึงผู้นำพรรคการเมือง โดยระบุว่า เธอถูกบังคับให้ตายอย่างโดดเดี่ยว เพราะไม่อยากให้คนที่เธอรัก ต้องถูกตำรวจสอบสวนหรือเดือดร้อน
ด้าน ราวน์ทรี วัย 60 ปี ซึ่งแม้จะหย่าร้างกับ มาร์รา ไปตั้งแต่ปี 2000 แต่ก็ยังคงให้การสนับสนุนเธอจนถึงวาระสุดท้าย เขาออกมาประณามกฎหมาย “การุณยฆาต” ในสหราชอาณาจักรว่าโหดร้าย โรคจิต ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก
“กฎหมายนี้มันวิปริต” ราวน์ทรีกล่าว “มันทำให้คนที่อยากตายอย่างสงบ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนเป็นอาชญากร พวกเขาไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ ไม่สามารถจับมือหรือกอดใครเพื่อบอกลา”
ราวน์ทรี ซึ่งเป็นทนายความด้วย สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายแต่ต้องมีข้อจำกัดที่เข้มงวด “ผมไม่สนับสนุนกฎหมายที่อนุญาตให้ใครก็ตามฆ่าใครก็ได้”
ปัจจุบัน การุณยฆาต ผิดกฎหมายในอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องการการุณยฆาต อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี ส่วนในสกอตแลนด์ แม้จะไม่มีกฎหมายเฉพาะ แต่การช่วยเหลือให้ผู้อื่นเสียชีวิต อาจมีความผิดฐานฆาตกรรม หรือข้อหาอื่นๆ
ขณะที่ในแคนาดา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ มาร์รา การุณยฆาตถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2016 สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และขยายขอบเขตไปยังผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย ในปี 2021
“เอสเธอร์ แรนท์เซน” (Esther Rantzen) พิธีกรชื่อดัง ที่กำลังป่วยหนัก ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมาย เช่นเดียวกับคนดังอีกหลายคน เช่น “เทอร์รี แพรตเชตต์” (Terry Pratchett) นักเขียน “ซูซาน ซาแรนดอน” (Susan Sarandon) และ “แพทริก สจ๊วต” (Patrick Stewart) นักแสดง
แต่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าการแก้ไขกฎหมาย อาจเปิดทางไปสู่ “การฆ่าที่รัฐให้การรับรอง”
ร่างกฎหมาย “การุณยฆาต” ฉบับใหม่ ในอังกฤษและเวลส์ จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง